ทศวรรษที่ 2010 - 2019 กำลังจะสิ้นสุดลงในอีกไม่กี่วันนี้ แต่เราคงจะลืมไปแล้วว่านี่เป็นทศวรรษที่มีพืชและสัตว์โลกสุญพันธุ์ไปมากที่สุดช่วงเวลานั้น
เมื่อบีบให้พื้นที่แคบลงมาเหลือเฉพาะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีสัตว์ไม่น้อยที่หายไปตลอดกาลเช่นกัน เอาเฉพาะประเทศไทยก็มีสัตว์จำนวนหนึ่งที่ได้รับการยืนยันอย่างเป็นทางการแล้วว่าไปไม่กลับ
จากการขึ้นบัญชีสัตว์สูญพันธ์โดยสหภาพระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) พบว่า สมัน (Rucervus schomburgki) กวางเงางามที่เคยอาศัยอยู่ในที่ราบลุ่มภาคกลางของไทยเท่านั้น รวมถึงในบริเวณกรุงเทพมหานครปัจจุบันได้รับการยืนยันโดย IUCN ว่าสูญพันธุ์ไปในปี 2006 แต่ยังมีนักวิทยาศาสตร์จำนวนหนึ่งเชื่อว่าสมันยังไม่สูญพันธุ์และยังอาจพบอยู่ในประเทศลาว ซึ่งโพสต์ทูเดย์เคยเอ็กซ์คลูซีฟเคยนำเสนอแบบเจาะลึกไปแล้ว จนกระทั่งในเดือนพฤศจิกายน 2014 IUCN จึงทำการประเมินอีกครั้ง และยืนยันในปีถัดมา (อีกครั้งหนึ่ง) ว่าสมันสูญพันธุ์แล้ว
ถ้าเราไม่ถือว่าสมันเป็นสัตว์ที่สูญพันธุ์ในทศวรรษนี้เพราะมีการประเมินข้ามทศวรรษ แต่ก็ยังมีสัตว์ในไทยที่ถือว่าสุญพันธุ์ไปตลอดกาลในช่วงทศวรรษนี้ นั่นคือ ปลาหวีเกศ (Platytropius siamensis) เป็นปลาน้ำจืดไม่มีเกล็ด คล้ายปลาสังกะวาดและปลาเนื้ออ่อนผสมกัน มีหนวดยาว 4 คู่ แต่หนวดจะแบนไม่เป็นเส้น คล้ายกับเส้นผมของผู้หญิงจึงเป็นที่มาของชื่อปลาหวีเกศ พบอาศัยอยู่เฉพาะแม่น้ำเจ้าพระยาเท่านั้น แต่ไม่พบตั้งแต่ปี 1975–1977 แม้จะมีการสำรวจเป็นระยะตามลำน้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำบางปะกงแต่ก็ไม่พบมัน ดังนั้นในปี 2011 IUCN จึงประกาศให้ปลาหวีเกศเป็นสัตว์สูญพันธุ์
ปัจจุบัน ปลาหวีเกศเหลือแต่เพียงซากที่ถูกดองเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยากรมประมงของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และสถาบันสมิธโซเนียนเท่านั้น โดยฮิว แมคคอร์มิค สมิธ ที่เก็บตัวอย่างได้จากตลาดปากน้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์ เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2486
นอกจากไทยแล้ว เพื่อนบ้านรอบๆ เราก็สูญเสียสัตว์ป่าไปคนละประเภทสองประเภท คือ หนูยักษ์ Buhler's coryphomys ที่อาศัยอยู่ในอินโดนีเซียและเกาะติมอร์ ได้รับการประเมินย้ำอีกครั้งในปี 2017 - 2019 ว่าสูญพันธุ์
อินโดนีเซียยังสุญเสียกุ้งน้ำจืด Macrobrachium leptodactylus พบที่ภาคตะวันตกของเกาะชวาเมื่อปี 1888 แต่หลังจากนั้นก็ไม่มีใครพบมันอีก ทำให้ IUCN ต้องประกาศว่ามันสูญพันธุ์ในปี 2013 แต่ก็มีผู้โต้เถียงว่ากุ้งชนิดนี้อาจเป็นอีกพันธุ์หนึ่งและถูกเข้าใจผิดว่าเป็นพันธุ์เฉพาะ
หมูป่าอินโดจีน (Sus bucculentus) มีถิ่นฐานในลาวและเวียดนามไม่มีการบันทึกว่าพบเห็นตั้งแต่ปี 1892 นักวิทยาศาสตร์รู้จักมันแค่ตัวอย่างหัวกะโหลกสองหัวเท่านั้น ก่อนหน้านี้เคยระบุว่า "สูญพันธุ์?" จนกระทั่งในปี 2016 จึงประเมินใหม่ว่า "สูญพันธุ์" โดยไม่มีข้อสงสัยอีกต่อไป
หอยทาก Plectostoma sciaphilum มีลักษณะสวยงามและมีเปลือกที่ซับซ้อน พบเฉพาะที่เนินเขาหินปูนลูกเดียวโดดๆ บูกิตปันจิง (Bukit Panching) ประเทศมาเลเซีย แต่ในทศวรรษที่ 2000 บริษัทผลิตปูนได้ระเบิดภูเขาทิ้งเพื่อนำหินมาทำปูน จึงทำลายถิ่นที่อยู่ของพวกมันไปตลอดกาล และไม่มีการพบเห็นมันมาตั้งแต่ปี 2001 ดังนั้น IUCN จึงประกาศว่า ทากที่สวยงามนี้สูญพันธุ์ในปี 2014
ความสวยงามของหอยทากชนิดนี้ต้องตาต้องใจผู้พบเห็นมาก จนมันถูกเรียกว่า microjewel หรือ อัญมณีจิ๋ว แต่ในวันนี้ อัญมณีของอาณาจักรสัตว์และพืชได้สูญพันธุ์ไปตลอดกาลแล้ว