บางครั้งไอเดียที่ดีที่สุดก็มาจากเรื่องง่ายๆ ใกล้ตัวที่สุด
ในกรณีของ กวิตา ศุกละเด็กสาววัย 17 ปีในขณะนั้น เธอค้นพบประโยชน์ของเครื่องเทศและสมุนไพร ที่ช่วยยืดอายุการเก็บผักและผลไม้โดยบังเอิญระหว่างที่อยู่ในประเทศอินเดีย ดินแดนที่ขึ้นชื่อเรื่องการใช้เครื่องเทศประกอบอาหารและเป็นยารักษาโรค
ไอเดียนี้เกิดขึ้นระหว่างเดินทางกลับไปเยี่ยมบ้านที่อินเดีย เธอเผลอดื่มน้ำจากก๊อกเข้าไปจึงกังวลว่าจะท้องเสียเนื่องจากคุณภาพของน้ำไม่สะอาดพอ ย่าจึงชงชาจากเครื่องเทศพื้นบ้านให้ดื่ม
ปรากฏว่า ชาเครื่องเทศช่วยให้เธอไม่มีอาการอย่างที่กังวล นั่นจึงทำให้ กวิตาในวัย 12 ปี สนใจสรรพคุณต่างๆ ของเครื่องเทศ และเริ่มทำการทดลองทันทีหลังกลับมาถึงบ้านที่สหรัฐ
เธอเปิดห้องทดลองของตัวเองในโรงรถ โดยเลือกใช้สตรอเบอร์รี่ซึ่งเป็นผลไม้ที่ค่อนข้างบอบบางและเน่าเสียได้ง่ายจุ่มลงในน้ำเครื่องเทศหลายๆ ชนิด จากนั้นสังเกตว่าเครื่องเทศชนิดไหนยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียและเชื้อราได้ดีที่สุด
หลังจากได้ข้อสรุปจากการทดลองที่เรียบง่ายแต่ใช้เวลาพัฒนาหลายปีแล้ว กวิตาก็ลงมือขั้นต่อไปด้วยการใส่เครื่องเทศลงไปในแผ่นกระดาษขนาด 5x5 นิ้ว และมีการจดลิขสิทธิ์เรียบร้อยขณะที่เธออายุเพียง 17 ปีเท่านั้น โดยเครื่องเทศทั้งหมดเป็นผลิตภัณฑ์ออร์แกนิค จึงนำมาใช้กับอาหารได้อย่างปลอดภัยไร้สารพิษตกค้าง
ส่วนวิธีใช้นั้นแสนสะดวก เพียงนำกระดาษไปวางไว้ในช่องสำหรับแช่ผักในตู้เย็น กล่องหรือถาดบรรจุผลไม้ เพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียและเชื้อรา ทำให้ยืดอายุการเก็บผักผลไม้ให้คงความสดใหม่ได้อีก 2-4 เท่าแม้ไม่ได้เก็บในตู้เย็น ส่วนตัวกระดาษนั้นใช้งานได้ 1 เดือน
เริ่มแรกนั้นเธอผลิตกระดาษในห้องครัวที่บ้าน โดยนำผลิตภัณฑ์ชื่อ FreshPaper ไปจำหน่ายที่ตลาดสำหรับเกษตรกรโดยตรงเพราะเข้าถึงลูกค้าได้ง่าย
ตอนแรกเธอลงทุนแค่ 300 เหรียญสหรัฐ ยังไม่รวมค่าจดทะเบียนลิขสิทธิ์ 1,500 เหรียญสหรัฐ
นี่คือทุนสำหรับวิจัยและพัฒนาสำหรับบริษัทสตาร์ทอัพที่น่าจะน้อยที่สุดแล้วเท่าที่เราเคยได้ยินมา แต่มันทำเงินได้มากมายจากการลงทุนแค่นั้น
ด้วยสิ่งประดิษฐ์ง่ายๆ แต่ใช้ได้ผลจริง ดีไซน์ที่ดูเก๋ และเงินลงทุนที่ไม่มากมายเกินไป ทำให้กวิตาได้รับการยอมรับจากสถาบันต่างๆ จากความสำเร็จนี้ และทำให้เธอเป็นผู้หญิงที่อายุน้อยที่สุดที่ได้รับรางวัล INDEX Design to Improve Life Award ซึ่งเป็นรางวัลที่ใหญ่ที่สุดในโลกด้านการออกที่มอบให้โดยมกุฏราชกุมารีแห่งเดนมาร์ก
กวิตาไม่ได้หยุดอยู่แค่ความสำเร็จทางธุรกิจ เธอยังมองข้ามช็อตไปที่ความสำเร็จร่วมกันของคนทั้งโลก
ปัญหาของโลกเราในเวลานี้คือมีขยะจากอาหารเหลือทิ้งมากเกินไป ทั้งที่เกิดจากการกินทิ้งกินขว้างและเกิดจากการเก็บรักษาไม่ดีพอ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติระบุว่า 25% ของปริมาณอาหารของโลกนั้นสูญเสียไปเนื่องจากการย่อยสลายโดยจุลินทรีย์ทุกปี
ในจุดนี้เอง กวิตาจึงมองว่า ผลิตภัณฑ์ FreshPaper ก็อาจมีส่วนช่วยรักษาอาหารให้คงทนยิ่งขึ้นและลดปัญหาอาหารเหลือทิ้ง ที่สำคัญคือ FreshPaper ไม่จำเป็นต้องใช้ทุนและอุปกรณ์ในการผลิตที่ซับซ้อน จึงไม่เป็นการผลิตโดยบั่นทอนสิ่งแวดล้อมเพื่อที่จะรักษาสิ่งแวดล้อมเหมือนกับผลิตภัณฑ์อื่นๆ
FreshPaper กล่าวในทวิตเตอร์ของบริษัทว่า "40% ของอาหารในสหรัฐต้องสูญเปล่าไป ขณะที่ 40 ล้านคนอเมริกันเผชิญกับความไม่มั่นคงด้านอาหาร เราทุกคนสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงง่ายๆ เพื่อลดขยะ โดยเริ่มต้นในห้องครัวของเรา"
ความสำเร็จของเธอในวันนี้แม้จะเกิดจากสิ่งที่เรียบง่าย แต่กลับกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ได้กับทุกคน
ภาพจาก kavitafresh