รายงานพิเศษต่างประเทศ
เมื่อปี 2014 คณะนักวิทยาศาสตร์ที่นำโดย เดวิด แคปแลนด์ ศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-มิลวอกี ในสหรัฐ ค้นพบดาวแคระดวงใหม่ที่ซ่อนอยู่ ณ มุมหนึ่งของจักรวาล อยู่ห่างจากโลกราว 900 ปีแสง ใกล้กับกลุ่มดาวกุมภ์
โดยทั่วไปแล้วการค้นพบดาวแคระอาจไม่ใช่เรื่องที่น่าตื่นเต้นนัก เพราะดาวประเภทนี้เป็นเพียงดาวฤกษ์ที่มีมวลแน่นหนาพอๆ กับดวงอาทิตย์ แต่ได้เย็นตัวลงและหรี่แสงลงในชั่วเวลาหลายพันปี ซึ่งดาวดวงนี้ก็มีขนาดเท่ากับโลกของเรา ดูเผินๆ แล้วดูเหมือนไม่มีความสลักสำคัญอะไร
แต่นักวิทยาศาสตร์ ชี้ว่า นี่คือดาวแคระที่หนาวเหน็บที่สุด และเลือนรางที่สุดเท่าที่เคยพบกันมา
อุณหภูมิของมันยะเยือกจนถึงขนาดทำให้คาร์บอนตกผลึกกลายเป็นเพชรไปทั้งดวง หรือพูดง่ายๆ ก็คือ นี่คือก้อนเพชรขนาดเท่ากับโลกของเรานั่นเอง
องค์ประกอบของดาวแคระประกอบไปด้วยคาร์บอนและออกซิเจนเป็นส่วนใหญ่ แต่เดิมมีอุณหภูมิสูงมากเช่นเดียวกับดาวฤกษ์ทั่วๆ ไป หลังจากผ่านไปหลายพันล้านปีจะเริ่มเย็นตัวและสลัวลง ซึ่งดาวแคระที่เพิ่งค้นพบนี้อาจมีอายุเท่ากับทางช้างเผือก หรือราว 11,000 ล้านปีมาแล้ว
หลังจากผ่านไปหลายพันล้านปี ขณะนี้ดาวแคระมีอุณหภูมิเพียง 2,700 องศาเซลเซียส ขณะที่ดวงอาทิตย์ในระบบสุริยะของเรามีอุณภูมิสูงกว่าถึง 5,000 เท่า
ความที่อุณหภูมิลดลงวูบวาบจากเดิม ประกอบกับการหมดสภาพเป็นดาวฤกษ์ ส่งผลให้คาร์บอนตกผลึกกลายเป็นเพชรขนาดมหึมา
ก่อนหน้านี้แม้จะเคยมีการพบดาวกลายเป็นเพชรอยู่บ้าง แต่กระบวนการค้นหาเป็นไปอย่างยากลำบาก เนื่องจากแสงสว่างที่ริบหรี่ ซึ่งดาวเพชรที่เพิ่งค้นพบล่าสุดก็มีปัญหาเดียวกัน เพราะสภาพแสงที่เลือนรางมาก หากไม่มีการค้นพบ "พัลซาร์" หรือดาวนิวตรอนที่โคจรรอบๆ ดาวแคระดวงนี้ ก็คงจะเล็ดลอดหูตาของนักดาราศาสตร์ไปอีกนานแสนนาน
โดยทางทีมงานได้ใช้ผลการตรวจสอบผ่านกล้องโทรทรรศน์จากหอดูดาวสัญญาณวิทยุแห่งชาติ (NRAO) หอดูดาวกรีแบงก์ (GBT) และหอดูดาวที่ฮาวาย (VLBA) เป็นหลัก รวมถึงผลการตรวจสอบจากหอดูดาวอีกหลายแห่งทั่วโลก จึงจะสามารถค้นพบดาวเพชรอันลี้ลับดวงนี้