WORLD NEWS

โดย M2F Writer

10 มีนาคม 2562 : 15:15 น.

โดย กรกิจ ดิษฐาน

ชิเอโกะ อาซากาวะ เกิดมาด้วยสายตาปกติ จนกระทั่งตอนที่เธออายุได้ 11 ขวบ เธอได้รับบาดเจ็บหลังจากตาซ้ายไปกระทบกระทั่งเข้ากับขอบสระว่ายน้ำ จนเส้นประสาทตาได้รับความเสียหาย เธอเริ่มสูญเสียการมองเห็นหลังจากนั้น และเมื่ออายุ 14 ปีก็กลายเป็นคนตาบอดโดยสมบูรณ์

แต่ความพิการทางสายตาไม่ใช่อุปสรรค หลังจากจบการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านวรรณคดีอังกฤษ จาก ม.โอเตมง งักคุอิน ในเมืองโอซากา เธอก็เริ่มเรียนหลักสูตรพิเศษที่ Nippon Lighthouse ด้านคอมพิวเตอร์ ด้านการใช้งานระบบออปเทคอน (Optacon) ซึ่งเป็นอุปกรณ์การอ่านเอกสารสิ่งพิมพ์ที่จะเปลี่ยนตัวอักษรที่เครื่องอ่านได้เป็นอักษรแบบสัมผัสที่คนตาบอดอ่านได้

อีก 2 ปีต่อมา อาซากาวะ ร่วมงานชั่วคราวกับ IBM Research ซึ่งในยุคนั้นเป็นมันสมองของเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ หลังจากทำงานชั่วคราวได้แค่ 1 ปี บริษัทก็รับเธอเข้าทำงานประจำ

อาซากาวะ ได้รับมอบหมายให้พัฒนาโปรแกรมประมวลคำสำหรับอักษรเบรลล์ และเธอก็ทำมันได้อย่างดีเยี่ยม สร้างนวัตกรรมสนำหรับผู้พิการทางสายครั้งแล้วครั้งเล่า ผ่านทศวรรษแห่งความเปลี่ยนแปลงจากยุคสื่อสิ่งพิมพ์มาถึงยุคดิจิทัล และปัจจุบัน อุปกรณ์ช่วยอ่านของเธอที่พัฒนาขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 1980 ก็ยังมีส่วนช่วยให้คนที่สายตามืดมิดในญี่ปุ่น สามารถเข้าถึงคลังข้อมูลหนังสือเบรลล์แบบดิจิทัลได้

เมื่อถึงยุคอินเทอร์เน็ต เธอพัฒนาปลั๊กอินสำหรับ Netscape ซึ่งจะเปลี่ยนข้อความตัวอักษรเป็นเสียงอ่าน ทำให้คนตาบอดใช้อินเทอร์เน็ตได้ง่ายขึ้น นี่ความล้ำหน้าที่น่าทึ่ง เพราะเกิดขึ้นพร้อมๆ กับการแพร่กระจายของอินเทอร์เน็ตในระดับมหาชน หมายความว่าคนพิการไม่ได้ถูกละทิ้งไว้ข้างหลังจนตามความเปลี่ยนแปลงของโลกไม่ทัน

ระบบที่เธอพัฒนาขึ้นมานั้น ในเวลาต่อมาได้กลายเป็นผลิตภัณฑ์หนึ่งของ IBM นั่นคือ IBM Home Page Reader ที่ปล่อยออกมาในปี 2005 เป็นเว็บที่ออกแบบมาสำหรับผู้พิการทางสายตา รองรับภาษาอังกฤษ ญี่ปุ่น และภาษาหลักในยุโรป แม้ว่าจะยุติการพัฒนาในปีถัดมา แต่ก็ถือเป็นผลิตภัณฑ์ระดับ “หมายหลัก” ทางประวัติศาสตร์ของวงการอินเทอร์เน็ต

วันนี้ Netscape หายไปจากวงโคจรของเบราเซอร์แล้ว แต่ผลงานของ อาซากาวะ ยังลือลั่นไปทั่วโลก

หลังจากนั้น อาซากาวะ และทีมงานยังเดินหน้าต่อไป และสร้างผลงานล้ำๆ ออกมาต่อเนื่อง เช่น aDesigner ซึ่งเป็นซิมูเลเตอร์สำหรับคนพิการ เพื่อที่ผู้ออกแบบเว็บไซต์จะสามารถสร้างเว็บที่เอื้อต่อการใช้งานของผู้ทุพพลภาพ และยังมี aiBrowser ที่ช่วยให้ผู้พิการทางสายตาสามารถเข้าถึงเนื้อหาภาพออนไลน์ เช่น สตรีมมิ่งวิดีโอได้

แต่เธอไม่ได้จำกัดตัวเองที่งานสำหรับคนพิการ เมื่อปี 2011 มีมงานของเธอเริ่มโปรเจกต์กับ ม.โตเกียว ในชื่อ Senior Cloud เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีรองรับผู้สูงวัยในยุคที่ญี่ปุ่นกำลังก้าวสู่โลกแห่งคนชราในอีกไม่ช้านาน ปัจจุบัน อาซากาวะ ได้รับมอบหมายให้ร่วมโครงการกับ ม.คาร์เนกี้ เมลลอน ในสหรัฐ ด้านการเข้าถึงเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มโอกาสในสังคมให้กับผู้คนในสาขาและวิถีชีวิตต่างๆ 

คำถามก็คือ อาซากาวะ ทำได้อย่างไร จากการเรียนวิชาวรรณคดีอังกฤษ สู่นักวิจัยด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์?

ต้องเรียกได้ว่าเป็นเพราะโอกาสอำนวยและความสามารถของเธอเหมาะเจาะพอดี หลังจากที่เรียนหลักสูตรพิเศษที่ Nippon Lighthouse ด้านคอมพิวเตอร์ได้ 2 ปี เธอก็ได้ร่วมงานกับ เธอบอกกับ The Japan Times ว่า ตอนนั้น IBM กำลังต้องการนักวิจัยช่วยพัฒนาการแปลภาษาอังกฤษเป็นอักษรเบรลล์พอดี ซึ่งเธอมีทั้งดีกรีด้านภาษาอังกฤษและความรู้ด้านคอมพิวเตอร์ และนี่คือจุดเริ่มต้นของเส้นทางอันยิ่งใหญ่

ในปี 2004 อาซากาวะ ก็เดินทางมาถึงจุดสูงสุดด้านการเรียน เมื่อเสร็จการศึกษาในระดับดุษฎีบัณฑิต ด้านวิศวกรรม จาก ม.โตเกียว เป็นเส้นทางที่น่าทึ่งสุดๆ สำหรับผู้หญิงคนหนึ่งที่ดวงตามืดบอด และยังมีดีกรีขั้นต้นด้านวรรณคดี แต่กลับคว้าปริญญาเอกด้านวิศวกรรมมาครอง แถมเธอยังมีคุณูปการอย่างมากต่องานด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์

ข่าวเด่น

ข่าวที่น่าสนใจ