แม้ว่าญี่ปุ่นจะผ่านช่วงภาวะเศรษฐกิจถดถอยมานานข้ามทศวรรษ สินค้าระดับเทคโนโลยีอาจไม่เป็นที่นิยมกว้างขวางเหมือนเมื่อก่อน อีกทั้งยังเผชิญกับภาวะอัตราการเกิดต่ำ
จำนวนประชากรคนหนุ่มสาวลดลง แต่ใช่ว่าศักยภาพด้านเทคโนโลยีของประเทศนี้จะด้อยลงตามไปด้วย ญี่ปุ่นยังคงติดอันดับต้นๆ ของประเทศที่มีความก้าวหน้าด้านนวัตกรรม อย่างน้อยยังติดอันดับท็อป 20 (อันดับที่ 14) ของดัชนีนวัตกรรมโลก หรือ Global Innovation Index ประจำปีนี้
ด้วยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง เราจึงสามารถคาดหวังจากญี่ปุ่นได้เสมอว่าจะยังคงมีสินค้าและบริการเจ๋งๆ ออกมาอวดสายตาชาวโลกได้เสมอ (และเชื่อว่าคนไทยจำนวนไม่น้อยยังเป็นแฟนโปรดักต์จากญี่ปุ่น แม้ว่าตลาดหลักจะถูกเกาหลีใต้แย่งชิงไปก็ตาม)
บริษัทรุ่นใหม่ที่เน้นขายนวัตกรรมที่น่าสนใจในเวลานี้ เช่น MJI Robotics ซึ่งเป็นบริษัทที่ไม่เล็กไม่ใหญ่ แต่มีผลงานไม่ใช่เล็กๆ ในวงการหุ่นยนต์โลก แถมยังมีสโลแกนที่น่าสนใจอีกด้วย นั่นคือ More Joyful Innovation (นวัตกรรมที่น่ารื่นเริงไม่มีหมด)
เป้าหมายหลักของบริษัทนี้ดูเหมือนว่าจะเป็นการสร้างหุ่นยนต์ แต่เป้าหมายของพวกเขาไม่ได้มีแค่นั้น เพราะแค่ผลิตหุ่นยนต์ยังไม่พอ ต้องทำให้เทคโนโลยีที่มีชีวิตเป็นมิตรกับมนุษย์ด้วย
พวกเขาบอกว่า
“แม้ว่าตอนนี้จะมีการใช้งานหุ่นยนต์ในอุตสาหกรรมหนักและงานที่มีสภาพแวดล้อมอันตราย แต่พวกเราคิดว่าหุ่นยนต์ยังสามารถเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของคนทั่วไปและในครอบครัวได้ หุ่นยนต์ยังมี หน้าที่ในด้านธุรกิจที่ใช้งานหนักน้อยกว่าภาคอุตสาหกรรม เช่น ในด้านการบริการและค้าปลีก รวมถึงในด้านการสาธารณสุขและการศึกษา หุ่นยนต์ที่ทำงานในส่วนนี้สื่อสารกับมนุษย์ เราจึงเรียกว่า ‘หุ่นยนต์ปฏิสัมพันธ์’ หรือ Communication robot”
ทีมงาน MJI มีวิสัยทัศน์ว่า ในอนาคตหุ่นยนต์จะสามารถเป็นผู้ช่วยในสำนักงาน เป็นพนักงานต้อนรับหน้าห้อง เป็นพยาบาลคอยดูแลข้างเตียงคนไข้ หรือแม้แต่เป็นเพื่อนแก้เหงาตอนที่เราอยู่บ้าน พวกเขามีความตั้งใจที่ไม่เหมือนใคร เพราะต้องการให้หุ่นยนต์เป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกัน และระหว่างมนุษย์กับหุ่นยนต์
บริษัทนี้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2015 มีสำนักงานอยู่ที่แขวงมินะโตะ ซึ่งเป็นย่านธุรกิจและการเมือง ใจกลางกรุงโตเกียว มีประธานและหัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร หรือซีอีโอ ชื่อ โทนี่ ชู พอ MJI เริ่มงานได้ไม่เท่าไร ก็ประกาศโปรเจกต์ที่สร้างความสั่นสะเทือนให้กับวงการหุ่นยนต์ นั่นคือ การนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ชื่อ Tapia หุ่นยนต์ ผู้ช่วยขนาดเท่าลูกบอล
Tapia เป็นหุ่นยนต์ปฏิสัมพันธ์ รูปไข่ ความสูงประมาณ 25 ซม. พร้อมด้วยกล้อง สปีกเกอร์ ไมโครโฟน หน้าจอแบบสัมผัส แบตเตอรี่แบบบิลด์อิน สามารถใช้งานได้ทั้งซิมการ์ดและสัญญาณไวไฟ มีระบบจดจำเสียง การสังเคราะห์เสียง และจดจำใบหน้า เพื่อตอบสนองเป้าหมายของการใช้หุ่นตัวนี้เป็นเพื่อนแก้เหงาและเพื่อนร่วมงานแบบเบาๆ
ที่น่าสนใจคือ ระบบปัญญาประดิษฐ์ของ Tapia ไม่ธรรมดาเลย เพราะสามารถปรับได้ตามจังหวะการพูดและเนื้อหาของการสนทนา แถมยังมีการแสดงสเตตัสด้านอารมณ์ของเจ้าหุ่นยนต์อีกด้วย
วัตถุประสงค์หลักของการใช้งาน Tapia มีอยู่ 3 จุดประสงค์ คือ
1 เพื่อช่วยตรวจสอบสวัสดิภาพของคนที่เรารัก เช่น เมื่อเราต้องดูแลสมาชิกในครอบครัวที่ล้มป่วย ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ หรือยังเป็นเด็กเล็กๆ หุ่นยนต์ตัวนี้จะทำหน้าที่เสมือนหนึ่งพยาบาลส่วนตัว ด้วยการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ด้านการแพทย์ที่ทันสมัย และตรวจเช็กทุกความเคลื่อนไหวของเป้าหมาย
2 เพื่อการสื่อสารและมีปฏิสัมพันธ์ หุ่นตัวนี้ไม่ได้เป็นแค่ช่องทางการติดต่อสื่อสารระหว่างเรากับคนที่เรารู้จักเท่านั้น แต่มันยังสามารถพูดคุยตอบโต้ได้โดยตรงกับเรา โดยประมวลผลการรับรู้ให้เป็นบทสนทนาและวิเคราะห์และพัฒนาทักษะการสนทนาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงบุคลิกและสไตล์การพูดของเรา
3 ผสานระบบอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet of Things) หรือไอโอที (IoT) คือการเชื่อมต่อวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตทั้งในด้านข้อมูลและการควบคุม หุ่นตัวนี้ผสาน IoT และควบคุมอุปกรณ์ต่างๆ ในบ้านด้วยระบบรีโมทคอนโทรล และเป็นช่องทางเข้าถึงและจัดแจงข้อมูลข่าวสาร
จะว่าไปแล้ว Tapia คือเพื่อนหรือมือขวาที่เสมือนมีชีวิตของเรานั่นเอง
ถ้ามันเสมือนหนึ่งชีวิตแล้ว ถามว่าหุ่นยนต์ตัวนี้เป็นเพศหญิงหรือเพศชาย?
หลายคนอาจเถียงว่าหุ่นยนต์ที่ไม่ใช่ฮิวมานอยด์ (หุ่นเหมือนมนุษย์) จะมีเพศได้อย่างไร แต่ผู้พัฒนาใช้คำสรรพนามเรียกมันว่า her ดังนั้น มันจึงเป็นเพศหญิงด้วยการกำหนดของผู้สร้างนั่นเอง
แต่สิ่งที่น่าสนใจมากกว่าความอัจฉริยะรอบด้านของ Tapia คือวิสัยทัศน์ของผู้ที่สร้างมันขึ้นมาต่างหาก
แม้ว่าหุ่นยนต์ตัวนี้จะเป็นผลงานปฐมฤกษ์ของ MJI แต่เราเชื่อมั่นว่า พวกเขาจะผลิตผลงานที่เจ๋งกว่านี้ออกมาอย่างแน่นอน เพราะแนวคิดของพวกเขาไม่ใช่เพียงแค่ผลิตสินค้าเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดเท่านั้น แต่ ดูเหมือนว่านักคิดของ MJI จะพยายามกำหนดแนวทางปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และหุ่นยนต์กันเลย ต่างจากบริษัทหรือองค์กรอื่นๆ ที่ยังมองหุ่นยนต์เป็นวัตถุ ส่วนคนนอกมองหุ่นยนต์ด้วยสายตาและความคิดที่กังวล
MJI อาจเป็นคนกลุ่มแรกๆ ที่พยายามใช้จุดเด่นของจุดผสานระหว่างความเป็นเครื่องจักรและมนุษย์ และอาจให้คำตอบที่ดีที่สุดกับมนุษยชาติ ในยุคที่การใช้หุ่นยนต์และปัญญาประดิษ์ฐ์เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้อีกต่อไป