Descola (ดีสกอลา) ในภาษาโปรตุเกสมีความหมายว่า การทะยานขึ้นสู่ที่สูง เป็นคำที่มีความหมายค่อนข้างดีทีเดียวเมื่อนำมาใช้เป็นชื่อธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจแนวใหม่น้องใหม่ที่หวังจะเทกออฟให้ไกลกว่าคนอื่น
ด้วยเหตุนี้กระมัง Descola จึงถูกเลือกมาใช้เป็นชื่อของสตาร์ทอัพมาแรงรายหนึ่งในบราซิลซึ่งจับกลุ่มการศึกษา ซึ่งเป็นกลุ่มเฉพาะแต่มีโอกาสเติบโตสูง
Descola คือบริการโรงเรียนออนไลน์ โดยจัดคอร์สการเรียนที่ไม่ยากแต่น่าสนใจและให้แรงบันดาลใจกับผู้ใช้บริการ ซึ่งก็คือนักเรียน นักศึกษาในระดับต่างๆ ใช้คลิปและครูที่สอนด้วยลีลาสนุกสนาน ไม่เป็นทางการจนน่าเบื่อ แค่ฟังเลคเชอร์จากคลิป อ่านแบบเรียนอีบุ๊ค แล้วทำแบบฝึกหัดกับแลกเปลี่ยนทัศนะกับครูหรือพื่อนร่วมชั้นออนไลน์ เท่านี้โอกาสในการแสวงหาความรู้ก็ไม่ยากอีกต่อไป
ความที่ Descola คือโรงเรียนออนไลน์ ทำให้เรายังสามารถแยกความหมายของคำที่ซ่อนอยู่ในคำว่า Descola ได้เป็นคำว่า escola (อีสกอลา) ที่แปลว่า โรงเรียน ไม่รู้ว่านี่คือความบังเอิญหรือความตั้งใจของผู้ก่อตั้งบริษัท
โรงเรียนออนไลน์มาแรงแห่งนี้ เป็นไอเดียของหนุ่ม 5 คนแห่งเมืองเซาเปาลู แห่งบราซิล (ในเวลานี้เหลือ 4 คน) คือ กาโย กัสเซบ ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง CCO กุสตาโว ไปวา ตำแหน่ง CTO ดานิเอล ปาสกาลุชชี ตำแหน่ง COO และ อันเดร ตาเนซี ตำแหน่ง CEO แม้จะตำแหน่งต่างๆ กันไป แต่พวกเขาคือผู้ร่วมก่อตั้งเฉกเช่นเดียวกัน
ทั้งหมดเริ่มขึ้นจากความสัมพันธ์ฉันเพื่อนของ ตาเนซี กับคนอื่นๆ ในฐานะนักศึกษาสาขาโฆษณา ที่วิทยาลัยการโฆษณาและการตลาด (ESPM) ในเซาเปาลู และทั้งหมดสำเร็จการศึกษาในปี 2006 และแยกย้ายกันไปทำงานตามทางของตัวเอง แต่ยังคงวนเวียนอยู่กับงานด้านโฆษณา ไม่ก็งานด้านการตลาด
จนกระทั่งพวกเขาค่อยๆ สั่งสมแนวคิดที่จะทำธุรกิจบริการแบบใหม่ และไอเดียที่ได้คืออยากจะให้บริการด้านการศึกษาที่น่าสนใจเน้นสอนเนื้อๆ ตัดเลคเชอร์ที่เป็นน้ำออกให้หมด พวกเขาค่อยๆ ต่อความคิดเป็นรูปเป็นร่าง จนกระทั่งการพูดคุยที่บาร์ในช่วงหนึ่งของปี 2011 ก้ได้ข้อสรุปเรื่องแนวคิดในที่สุด และในกลางปีนั้น Descola ก็ได้ถือกำเนิดขึ้น
ในช่วงแรกพวกเขาใช้เฟซบุ๊คเป็นฐาน และสามารถเรียกความสนใจได้ขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งเตะตานักลงทุนผู้ที่พร้อมจะให้การสนับสนุนทางการเงิน และแนะนำให้พวกเขาจัดคอร์สการสอนแบบตามสั่ง (หรือจะเรียกว่าการติวแบบออน ดีมานด์ก็น่าจะได้)
คอร์สเก็บเงินคอร์สแรกของพวกเขาว่าด้วยการทำธุรกิจผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ค มีค่าบริการ 99 เรียล ความยาว 1.30 ชม. ปรากฏว่าขายคอร์สได้ 100 คอร์ส แต่พวกเขาไม่ยอมหยุดอยู่แค่นี้ เพราะสิ่งที่อยู่ในใจของคนหนุ่มทั้ง 4 คือการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
ในที่สุดจากการลงทุนแรกเริ่มแค่ 100,000 เรียล พวกเขาสามารถต่อยอดได้เป็นเงินหลักล้าน
ตอนนี้บริการผ่านแพลตฟอร์มค่อนข้างหลากหลาย และราคาก็หลากหลายตามไปด้วย ขึ้นอยู่กับความซับซ้อนของวิชาที่ต้องการจะติว หรือจะเหมาหมดทุกคอร์สในราคา 1789.6 เรียล ซึ่งลูกค้าจะได้เรียน 31 คอร์ส ใช้เวลากว่า 40 ชม. มีครูผู้สอน 44 คน โดยวิชาที่สอนคือ การบริหารธุรกิจ การตลาด การออกแบบ และข้อมูลข่าวสาร ซึ่งล้วนแต่เป็นอาวุธสำคัญสำหรับคนที่อยากจะเริ่มธุรกิจเป็นของตัวเอง
ถ้ายังไม่พร้อมที่จะเหมา ก็แค่แยกซื้อวิชาละ 149 เรียล โดยธุรกรรมทั้งหมดทำผ่านออนไลน์ เช่นเดียวกับกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการเรียนการสอนทั้งหมด รวมถึงการเข้ากลุ่มพุดคุย ซึ่งจะทำได้รับอีเมลรับเชิญหลังจากลงทะเบียนและจ่ายค่าเล่าเรียนแล้ว
การเรียนหรือการติวแบบนี้ถูกใจคนรุ่นใหม่ เพราะไม่ต้องเสียเวลาไปเดินหาโรงเรียนที่ไหน แถมยังได้บรรยากาศเหมือนการเข้าเรียนจริงๆ ในราคาที่ไม่แพง
โดยผิวเผินแล้ว แนวคิดของ Descola อาจดูไม่แปลกใหม่ในแง่ของบริการ เพราะมีบางบริษัทในบางประเทศที่ทำธุรกิจแบบเดียวกัน และประสบความสำเร็จมากกว่านี้ด้วยซ้ำ
แต่สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับสตาร์ทอัพจากบราซิลรายนี้คือ “แนวคิด” คือแนวคิดของการ “รื้อสร้าง„ หรือ Deconstruction รูปแบบการศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการของคนรุ่นใหม่ ลดทอนส่วนประกอบที่เกินความจำเป็น และให้ความสำคัญกับการแลกเปลี่ยนความรู้และทัศนะระหว่างผู้เรียน เพื่อนร่วมคอร์ส และอาจารย์ ผ่านกลุ่มพูดคุย (Discussion group) ซึ่งในจุดนี้สตาร์ทอัพการศึกษารายอื่นๆ ยังไม่มี หรือไม่ได้ให้ความสำคัญมากนัก
ด้วยแนวคิดที่แหวกกรอบ ทำให้ Descola มีดีเอ็นเอที่หวือหวา สามารถเติบใหญ่ในรูปแบบที่แปลกใหม่ได้เรื่อยๆ
ภาพ - Photo by Frederic J. BROWN / AFP