ขณะที่การเตรียมงานแจกรางวัลออสการ์ยังดราม่าไม่เลิกกับการหาพิธีกรในงาน หลังจากแคนดิเคตคนก่อน ถูกแฉว่าเหยียดความหลากหลายทางเพศ งานแจกรางวัลอีกเวทีหนึ่งได้เสียงชื่นชมเป็นอันมากกับการนำเสนอความหลากหลายทางเชื้อชาติ
คืองานแจกรางวัลลูกโลกทองคำ หรือ 76th Annual Golden Globe Awards เริ่มตั้งแต่พิธีกรในงานที่เป็นการจับคู่กันระหว่างดาวตลกเจ้าของแก๊กขั้นเทพ แอนดี้ แซนเบิร์ก (อเมริกัน-ยิว) กับ แซนดร้า โอห์ (แคนาเดียน-เอเชี่ยน) ที่หยอดมุขกันสนุกสนาน แต่ไฮไลท์ไม่ได้มีอยู่แค่นั้น
 ดาวเด่นของงานนี้คือบรรดานักแสดงเชื้อสายเอเชีย ที่ช่วงหลังน้อยเนื้อต่ำใจกันมากว่าถูกละเลยจากฮอลลีวูด แต่ในเวทีนี้พวกเขาคือดาวจรัสแสงที่แท้จริง เพราะนี่เป็นครั้งแรกที่คนเชื้อสายเอเชียทำหน้าที่พิธีกรในงาน และนอกจากแซนดร้าจะทำหน้าทีพีธีกรแล้ว เธอยังคว้ารางวัลนักแสดงหญิงยอดเยี่ยมสาขาภาพยนตร์โทรทัศน์ดราม่าจากเรื่อง Killing Eve นับเป็นครั้งแรกในรอบ 39 ปีที่ผู้หญิงเชื้อสายเอเชียคว้ารางวัลนี้มาได้ แต่ยังไม่เท่านั้น เพราะแซนดร้ายังเป็นดาราเอเชียคนแรกที่คว้ารางวัลลูกโลกทองคำ 2 ครั้ง ครั้งแรกคือปี 2006 จากบทบาทในเรื่อง Grey’s Anatomy และในปี 2019 จากเรื่อง Killing Eve
1.แซนดร้า โอห์ ผู้สร้างประวัติศาสตร์ 3 ครั้งในวันเดียว Mark RALSTON / AFP)
 นักแสดงเชื้อสายเอเชียอีกคนที่สร้างประวัติศาสตร์คือ แดร์เรน คริสส์ ลูกครึ่งฟิลิปปินส์ ผู้รับบทมือสังหาร จิอานนี่ เวอร์ซาเช่ ดีไซเนอร์ชื่อก้องโลก ในซีรีส์เรื่องราวการฆาตกรรมครั้งนั้น คือ “The Assassination of Gianni Versace: American Crime Story” นับเป็นคนเชื้อสายฟิลิปปิโนคนแรกที่คว้ารางวัลลูกโลกทองคำมาครอง ซึ่งทั้งแซนดร้าและดาร์เรนยังแสดงธรรมเนียมของชาวเอเชีย ด้วยการอุทิศรางวัลให้บุพการี โดยแซนดร้าขอบคุณพ่อแม่ชาวเกาหลีของเธอด้วยคำว่า “ซารางเฮโย” และแดร์เรนมอบรางวัลให้คุณแม่ชาวฟิลิปปินส์ของเขา ซึ่งอพยพมาตั้งถิ่นฐานในสหรัฐ
2.แดร์เรน คริสส์ ความภาคภูมิใจของชาวฟิลิปปินส์ Kevin Winter/Getty Images/AFP
 คอนสแตนซ์ วู นักแสดงสาวชาวอเมริกันที่พ่อแม่อพยพมาจากไต้หวัน ซึ่งโด่งดังมาจากเรื่อง Crazy Rich Asians (อันที่จริงเธอดังมาตั้งแต่ซีรีส์เรื่อง Fresh Off the Boat เรื่องของครอบครัวชาวไต้หวันอพยพ) เธอกลายเป็นนักแสดงเอเชียคนแรกนับตั้งแต่ปี 1974 ที่ได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมสาขามิวสิคัลและคอมเมดี้ โดยคนก่อนที่ได้เสนอชื่อคือ อีฟวอน เอลลิแมน เชื้อสายฮาวาย-ญี่ปุ่น จากเรื่อง Jesus Christ Superstar แต่น่าเสียดายว่าคอนสแตนซ์พลาดจากรางวัลนี้
3.คอนสแตนซ์ วู แม้จะพลาดรางวัลแต่หนังของเธอคือปรากฏการณ์ REUTERS/Mario Anzuoni
 สรุปรางวัลอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับเอเชีย นักแสดงนำชายยอดเยี่ยแนวดราม่า คือ รามี มาเล็ก จากเรื่อง Bohemian Rhapsody, นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมแนวดราม่า คือ เกลน โคลส จาก The Wife, ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมดราม่า คือ Bohemian Rhapsody แนวคอมเมดี้ เรื่องที่ได้รางวัลคือ Green Book นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมแนวคอมเมดี้ คือ โอลิเวีย คอลแมน จากเรื่อง The Favourite ส่วนฝ่ายชาย คือ คริสเตียน เบล จากเรื่อง Vice
 งานนี้ คริสเตียนยังมอบโมเม้นท์ไม่รู้ลืมตอนที่ขึ้นรับรางวัล โดยกล่าวว่า “ผมขอขอบคุณซาตาน ที่เป็นแรงบัดาลใจในการแสดงบทบาทนี้” ซึ่งบทบาทที่ว่านั้นคือ รองประธานาธิบดีสหรัฐ ดิก เชนีย์ ผู้อื้อฉาวจากการค้าในสงครามรุกรานอิรักนั่นเอง เป็นการเอ่ยถึงซาตานได้สมกับชื่อหนังคือ Vice ที่แปลว่า “ชั่วร้าย” เสียจริงๆ