เจาะลึกสถานการณ์โลก
กลายเป็นประเด็นร้อนที่ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจ กรณีของ ราฮาฟ โมฮัมเหม็ด เอ็ม อัลคูนัน หญิงสาวชาวซาอุดีอาระเบีย วัย 18 ปี ที่ถูกกักตัวที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ประเทศไทย หลังหลบหนีจากครอบครัวเพื่อลี้ภัยไปประเทศออสเตรเลีย เมื่อวันที่ 6 ม.ค. จนดันแฮชแท็ก #SaveRahaf ติดเทรนด์ทวิตเตอร์ เมื่อขณะนี้เธอกำลังเผชิญ หน้ากับการถูกส่งตัวกลับประเทศ ซึ่งตามกำหนดการเดิม อัลคูนัน จะต้องถูกส่งตัวกลับในวันที่ 7 ม.ค.ที่ผ่านมา โดยเที่ยวบิน 412 สายการบินคูเวต แอร์ไลน์ เวลา 11.15 น. (ตามเวลาท้องถิ่น)
แต่ปรากฏว่าระหว่างถูกกักตัว หญิงสาวขังตัวเองอยู่ในห้องพัก และไม่ยอมให้เจ้าหน้าที่เข้าไปด้านใน พร้อมกับระหว่างนั้น เธอก็ส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือจากโลกภายนอกผ่านบัญชีทวิตเตอร์ส่วนตัว โดยอ้างว่า หากถูกส่งตัวกลับไปยังบ้านเกิด เธอคงไม่รอดถูกครอบครัวสังหารอย่างแน่นอน
อัลคูนันหลบหนีจากครอบครัวในระหว่างการเดินทางไปท่องเที่ยวที่ประเทศคูเวต และโดยสารเครื่องบินสายการบินคูเวต แอร์ไลน์ มาต่อเครื่องที่ประเทศไทยเพื่อเดินทางไปยังออสเตรเลีย แต่ปรากฏว่าหลังลงมาจากเครื่อง เธอถูกเจ้าหน้าที่นักการทูตของซาอุฯ ยึดหนังสือเดินทาง และถูกควบคุมตัว อัลคูนันให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์ส ว่า เดิมทีเธอวางแผนจะใช้เวลา 2-3 วันที่เมืองไทย เพราะเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมทางการแพทย์ของชาวตะวันออก ที่มักเดินทางมารักษาตัวกันที่นี่ แต่เมื่อลงจากเครื่องบินก็มีเจ้าหน้าที่มาบอกว่า จะดำเนินการขอวีซ่าไทย แต่เขากลับยึดพาสปอร์ตไป และกลับมาควบคุมตัวเธอ โดยให้เหตุผลว่า พ่อแม่ของเธอคัดค้านและเธอจะต้องเดินทางกลับซาอุฯ
หญิงสาวโพสต์คลิปวิดีโอผ่านทวิตเตอร์อ้างว่า หากเธอถูกทางการไทยส่งตัวกลับไปหาครอบครัว เธอจะต้องถูกพวกเขาสังหาร เพราะเธอละทิ้งศาสนา ซึ่งถือว่าเป็น เรื่องร้ายแรงและต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมายอิสลาม รวมถึงพ่อของเธอที่เป็นข้าราชการระดับสูงซึ่งต้องเสื่อมเสียเกียรติ และเธอมั่นใจ 100 เปอร์เซ็นต์ว่า เมื่อเธอออกจากคุก พวกเขาจะต้องฆ่าเธอแน่นอน
ขณะเดียวกัน อัลคูนันก็ได้เปิดเผยถึงสิ่งที่เธอกำลังเผชิญ โดยบอกว่า เธอไม่มีอะไรจะเสียแล้ว จึงได้เปิดเผยชื่อจริงและข้อมูลทุกอย่างเกี่ยวกับตัวเอง โดยได้เผยรูปหนังสือเดินทางของตัวเองด้วย พร้อมยืนยันว่า เธอมีตัวตนอยู่จริง “ฉันแชร์ข้อมูลและรูปภาพของตัวเองบนโซเชียล และมันทำให้พ่อของฉันโกรธมาก ฉันไม่สามารถเรียนและทำงานในประเทศของฉันได้ ดังนั้น ฉันจึงอยากเป็นอิสระ เรียนและทำงานในสิ่งที่ฉันต้องการ ครอบครัวของฉันเข้มงวดมาก พวกเขาขังฉันไว้เป็นเวลา 6 เดือน เพื่อตัดผมฉัน” อัลคูนัน บอกกับบีบีซี
ทั้งนี้ ผู้หญิงในซาอุดีอาระเบียอยู่ภายใต้กฎหมายคุ้มครองโดยผู้ชาย ซึ่งสตรีจำเป็นต้องได้รับการอนุญาตจากผู้ปกครองหรือญาติผู้ชายในการทำงาน ท่องเที่ยว เปิดบัญชี ธนาคาร หรือแม้แต่ออกจากคุก
ก่อนหน้านี้อัลคูนันเคยพยายามหลบหนีจากครอบครัว เพราะถูกทำร้ายร่างกายและจิตใจ โดยเธอได้ทำเรื่องขอลี้ภัยจากรัฐบาลทั่วโลกทั้งในยุโรป สหรัฐ แคนาดา และออสเตรเลีย
ด้านสื่อดัง เดอะ การ์เดียน ได้เปิดเผยข้อมูลจากเพื่อนสาวคนหนึ่งของอัลคูนัน วัย 20 ปี ที่ไม่ขอเปิดเผยชื่อ และเพิ่งย้ายจากซาอุฯ ไปอยู่ที่ออสเตรเลียเมื่อไม่นานมานี้ โดยเธอยืนยันว่า อัลคูนันกำลังถูกคุกคามจริงๆ “เธอเป็นอดีตมุสลิมและมีครอบครัวที่เข้มงวด พวกเขาใช้ความรุนแรง และเธอยังต้องเผชิญกับการถูกล่วงละเมิดทางเพศโดยลูกพี่ลูกน้องของตัวเอง เขาบอกด้วยว่าจะฆ่าเธอที่ละทิ้งศาสนา” หญิงสาว กล่าว
โดยเมื่อช่วงเช้าวันที่ 7 ม.ค. ครึ่งชั่วโมงก่อนที่เที่ยวบิน 412 ของสายการบินคูเวต แอร์ไลน์ ซึ่งมีกำหนดรับตัวอัลคูนันเพื่อส่งตัวกลับไปยังคูเวต จะออกเดินทางจากสนามบินสุวรรณภูมิ เจ้าหน้าที่ ตม.ไทย และเจ้าหน้าที่ของคูเวต แอร์ไลน์ ได้มายังหน้าห้องพักของหญิงสาว และเรียกให้เธอเปิดประตู เพื่อเชิญตัวไปขึ้นเครื่องบิน แต่อัลคูนันยืนกรานปฏิเสธ โดยเธอได้นำสิ่งของมาวางกีดขวางประตู และเรียกร้องให้ทางการปล่อยตัวเธอ กระทั่งเที่ยวบินดังกล่าวออกจากสนามบินไป โดยที่เธอยังขังตัวเองอยู่ในห้องพัก หญิงสาวก็ได้โพสต์คลิปวิดีโอลงทวิตเตอร์เพื่อขอความช่วยเหลือจากองค์กรมนุษยธรรม ระบุว่า “ฉันชื่อราฮาฟ เครื่องบินออกไปแล้ว ฉันติดอยู่ในโรงแรม ฉันต้องการประเทศที่ปกป้องฉันโดยเร็วที่สุด ฉันกำลังหาที่ลี้ภัย”
ด้าน ฟิล โรเบิร์ตสัน รองผู้อำนวยการฮิวแมนไรท์สวอทช์เอเชีย ทวีตข้อความซึ่งเป็นวิดีโอของเธอ ระบุว่า เธอปิดประตูปกป้องตัวเองจากคนภายนอกภายในห้องพัก และเธอจะไม่ออกไปจากที่นั่นจนกว่าจะได้พบกับตัวแทนจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) “เธอหวาดกลัวต่อครอบครัวของตัวเองอย่างมาก และการละทิ้งศาสนาของเธอ จะทำให้เธอต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย” โรเบิร์ตสัน กล่าว
ขณะที่ จอร์จ ชมิทท์ เอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำประเทศไทย ได้ทวีตข้อความว่า เขามีความกังวลอย่างมาก สำหรับกรณีของหญิงสาวชาวซาอุฯ วัย 18 ปี และได้ติดต่อกับทางการไทย และสถานทูตประเทศอื่นๆ เกี่ยวกับสถานการณ์ของเธอ
ทั้งนี้ ข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ตม.ไทย แจ้งว่า อัลคูนันมีอายุ 18 ปี และมีข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ซาอุฯ ของเธอแจ้งให้ทราบถึงการห้ามเดินทางออกนอกประเทศซาอุฯ เจ้าหน้าที่ ตม.ไทย จึงปฏิเสธที่จะให้เข้าประเทศ เนื่องจากไม่มีวีซ่าเข้าประเทศไทย และต้องผลักดันกลับ โดยเจ้าหน้าที่ ตม.ไทย ไม่ได้ทำการยึดพาสปอร์ต และเรื่องดังกล่าวดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย
สำหรับกรณีที่เกิดขึ้นนี้คล้ายกับกรณีของหญิงซาอุฯ อีกรายหนึ่งที่ชื่อว่า ดีนา อาลี เลสลูม เมื่อเดือน เม.ย. 2017 เธอกำลังเดินทางจากคูเวตโดยไปเปลี่ยนเครื่องที่ฟิลิปปินส์ แต่ถูกนำตัวกลับซาอุดีอาระเบียจากสนามบินในกรุงมะนิลาโดยครอบครัวของเธอเอง ในขณะนั้น เธอยืมโทรศัพท์ของนักท่องเที่ยวแคนาดาส่งข้อความและวิดีโอที่โพสต์ลงทวิตเตอร์ว่า ครอบครัวจะฆ่าเธอ แต่หลังจากนั้นเป็นต้นมาก็ไม่มีใครทราบว่าชะตากรรมเธอเป็นเช่นไร