GROUND BREAKER
ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ศาสนาเป็นทุกสิ่งทุกอย่างของชีวิต แต่ที่ญี่ปุ่น ศาสนาเป็นธุรกิจอย่างหนึ่งสำหรับคนหลายล้านคน
มีคำกล่าวว่า คนญี่ปุ่นตอนเกิด ทำพิธีที่ศาลเจ้าชินโต ตอนแต่งงาน จัดพิธีแบบคริสต์ และตอนตาย จัดพิธีแบบชาวพุทธ ชีวิตของคนญี่ปุ่นจะว่าเกี่ยวพันกับศาสนาที่หลากหลายก็ว่าได้ หรืออาจจะกล่าวได้ว่าไม่สนใจศาสนาใดศาสนาหนึ่งเลยก็ว่าได้ เพียงแค่มีพิธีมารองรับช่วงต่างๆ ของชีวิตเท่านั้น เพื่อไม่ให้ดูแปลกแยกจากขนบจนเกินไป เพราะอย่างที่เราทราบกันดีว่า ญี่ปุ่นจริงจังกับขนบมากเพียงใด
ศาสนาพุทธเคยอยู่ได้ด้วยเงินบริจาค แต่วันนี้อยู่ได้ด้วยเงินค่าบริการจากสมาชิกในชุมชน โดยญี่ปุ่นใช้ระบบขั้นทะเบียนชุมชนนั้นๆ กับวัดหนึ่งๆ ในสมัยโบราณระบบนี้มีไว้สำหรับตรวจสอบสำมะโนครัว โดยใช้วัดเป็นศูนย์กลาง และยังใช้ตรวจสอบการแทรกซึมของศาสนาคริสต์ ต่อมาญี่ปุ่นเปิดให้นับถือศาสนาอย่างเสรี ระบบผูกบ้านกับวัดจึงเริ่มหมดความสำคัญ วัดจึงขาดเงินบริจาค หากไม่ใช่วัดดังที่มีจุดขายก็ต้องปิดตัว หรือปล่อยให้ร้างไปตามระเบียบ
นอกจากนี้ ในยุคเมจิ ญี่ปุ่นยังออกกฎหมายบังคับให้พระสงฆ์ในพุทธศาสนาต้องมีครอบครัว ทำให้พระสงฆ์กลายเป็นฆราวาสที่มีภรรยาและลูก และมอบตำแหน่งเจ้าอาวาสให้ลูก มีลูกวัดที่ทำหน้าที่พระสงฆ์ในงานพิธี ต่างก็แต่งกายแบบพระ แต่วิถีการดำรงชีวิตเหมือนคนทั่วไป ครอบครัว “พระ” จึงอยู่แบบสันโดษไม่ได้ เพราะต้องเลี้ยงปากเลี้ยงท้องคนในครอบครัว และ “พนักงาน” คนอื่นๆ
วัดในญี่ปุ่นจึงมีสภาพไม่ต่างจากบริษัท มีเจ้าอาวาสเป็นเหมือน CEO เพียงแต่ภรรยาและลูกของ CEO จะอยู่เฉยๆ ไม่ได้ ต้องช่วยกันทำมาหากินไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง และมีลูกวัดที่ช่วยกันทำหน้าที่พระเพื่อให้พิธีครบครัน ทั้งหมดนี้ไม่ใช่บรรพชิต แต่เป็นฆราวาสที่พยายามทำทุกวิถีทางเพื่อรักษาวัดเอาไว้ หรือนัยหนึ่งก็คือธุรกิจของพวกเขานั่นเอง แถมรายได้จากการจัดพิธีแบบพุทธ เช่น งานศพก็น้อยลงไปทุกวัน คนรุ่นใหม่ก็ใส่ใจศาสนาน้อยลงไปทุกที
แล้วพวกเขาจะเอาตัวรอดได้อย่างไร?
วัดหลายแห่งจึงผุดไอเดียแปลกๆ เพื่อดึงคนรุ่นใหม่เข้าวัด เช่น มีการเล่นไลฟ์มิวสิค โดยนำพระสูตรมาขับขานเป็นบทเพลงเพื่อกล่อมสาธุชนและเรียกคนรุ่นใหม่เข้ามา บางแห่งเล่นดนตรีได้เจ๋งจนกลายเป็นศิลปินเดินสายกันจริงๆ จังๆ เลยก็มี และบางที่ไม่ใช่สายอะคูสติก ก็เน้นดนตรีแนวเทคโน จนวัดแทบจะกลายเป็นไนต์คลับ
เช่น ที่วัดโชอนจิ เมืองฟุกุอิ มีอดีตพระที่เคยเป็นดีเจชื่อว่า เกียวเซน อาซากุระ ให้บริการพิธีรำลึกผู้ตาย (ส่วนหนึ่งของพิธีศพที่เป็นตัวทำเงินหลักของวัด) โดยผสมผสานพิธีกรรมดั้งเดิมกับการเปิดเพลงเทคโน และเปิดแสงสีอลังการฉายไปที่แท่นบูชาพระ โดยหลวงพี่อธิบายว่าแสงเหล่านี้เป็นตัวแทนแสงของสวรรค์หรือแดนสุขาวดีตามคติพุทธศาสนา ในแง่หนึ่งช่วยให้พิธีดูมีสีสันและน่าเบื่อน้อยลง และช่วยให้คนรุ่นใหม่มีความรู้สึกที่จะมาใช้บริการเกี่ยวกับเรื่องความตายในวัด
ปรากฏว่าแนวคิดของ อาซากุระ ได้ผลมาก หลวงพี่ตั้งเป้าไว้ว่าจะทำเงินให้ได้ 350,000 เยนในเวลาจำกัด แต่ปรากฏว่าได้เงินเฉียดเป้าก่อนที่จะถึงกำหนดตั้งหลายวัน แสดงว่าหลวงพี่มาถูกทางแล้ว
นอกจากจะมีสายดนตรีแล้ว ยังมีสายแดนซ์อีกด้วย คือที่วัดโคเซนจิ หลวงพ่อโคจิ โจ เปิดวิหารหลักให้เป็นฟลอร์เต้นรำดิสโก้ เพื่อดึงให้คนในชุมชนกลับมาใช้วัดเป็นสถานที่ทำกิจกรรมร่วมกันอีกครั้ง แทนที่จะเข้าวัดตอนที่มีคนตายหรืองานทำบุญให้คนตายเพียงอย่างเดียว Japan Times รายงานว่า วัดนี้เปิดบริการสอนเต้นรำเมื่อหลายปีก่อน และตอนนี้มีการปรับปรุงวิหารหลักให้รับกับงานเต้นรำ และงานแสดงดนตรีด้วย เรียกได้ว่าเป็นเวนูว์สำหรับอีเว้นท์บันเทิงโดยเฉพาะ
แต่ หลวงพ่อโจ บอกว่า ตั้งใจจะให้คนในชุมชนรู้สึกสบายๆ กับบรรยากาศในวัด และหันมาเปิดอกคุยเรื่องที่ทำให้ใจเป็นทุกข์มากขึ้น
วัดโอเทนนิน ในเมืองโอซากา ตั้งโรงละครกันกลางวิหารหลัก เพื่อฝึกคนรุ่นใหม่ให้มีทักษะการแแสดง ปรากฏว่ามีคนมาเยี่ยมชมวัดถึงปีละ 30,000 คน
อีกวัดหนึ่งในฟุกุโอกะ ชื่อว่าวัดโบไดจิ ไม่เน้นสายดนตรี แต่เปลี่ยนวัดให้เป็นท้องฟ้าจำลอง เพื่อดึงดูดผู้สนใจให้เข้ามาเข้าวัดด้วย และชมแผนที่ดวงดาวไปด้วย ซึ่งที่นี่ไม่ใช่ที่แรกที่ยกท้องฟ้าจำลองมาไว้ที่วัด เพราะเจ้าของไอเดียคือวัดในกรุงโตเกียว และคาดว่าจะมีอีกหลายวัดทำในแบบเดียวกัน
โปรดตระหนักว่า เมื่อเราเอ่ยถึง “วัด” ในบทความนี้ ไม่ใช่วัดในลักษณะเดียวกับเมืองไทย แต่เหมือนศูนย์กลางชุมชนที่ดำเนินการโดยครอบครัวที่ทำหน้าที่คล้ายพระในศาสนาพุทธ “วัด” ที่ว่านี้มีการดำเนินการแบบกิจการทั่วๆ ไป นอกจากต้องหาเงินมาเลี้ยงดูคนในครอบครัวแล้ว ยังต้องรักษาสายสัมพันธ์กับชุมชน คือดึงคนให้เข้ามาอยู่เป็นกลุ่มก้อนเดียวกันอีกด้วย
การบริหารกิจการแบบนี้จึงเป็นเรื่องท้าทายเอาการ