WORLD NEWS

โดย M2F Writer

26 พฤศจิกายน 2561 : 14:34 น.

ไต้หวันเจอข่าวช็อก 2 วันติดต่อกัน สั่นคลอนความพยายามที่จะประกาศ “อิสรภาพจากจีน” และบั่นทอนความพยายามที่จะสร้างสังคมเสรีนิยม

ก่อนหน้านี้ ในการเลือกตั้งท้องถิ่นทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 24 พ.ย. ซึ่งเป็นการเลือกตั้งนายกเทศมนตรี สภาเมือง สภาเทศบาล และผู้ใหญ่บ้าน ปรากฏว่าพรรค DPP ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลของ ประธานาธิบดี ไช่อิงเหวิน พ่ายแพ้ยับเยิน ทั้งยังเสียเมืองสำคัญที่เป็นฐานที่มั่นหลักคือ เมืองเกาสง ที่พรรค DPP ปักหลักมานานถึง 20 ปี และเมืองไถจง เมืองสำคัญของภาคอุตสาหกรรมให้กับพรรคก๊กมินตั๋ง ส่วนที่กรุงไทเป ผู้ว่าฯ คนเดิมจากพรรค DPP เอาชนะได้ด้วยคะแนนฉิวเฉียด แต่พรรคก๊กมินตั๋งเรียกร้องให้นับคะแนนใหม่ โดยรวมแล้วพรรคก๊กมินตั๋งชนะถึง 15 เมืองจาก 22 เมือง

ความพ่ายแพ้ครั้งนี้ ทำให้ไช่อิงเหวินประกาศลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค แต่จะยังคงดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีต่อไปอีก 2 ปีจนครบวาระ แต่ความพ่ายแพ้ยับเยินในการเลือกตั้งกลางเทอม เท่ากับบั่นทอนความหวังของพรรค DPP และกลุ่มการเมืองสายเรียกร้องเอกราชที่จะครองอำนาจต่อไป

ความพ่ายแพ้ครั้งนี้ คาดว่าเป็นผลมาจากนโยบายเรียกร้องเอกราชของพรรค DPP และท่าทีผ่อนปรนกับกลุ่มรักเพศเดียวกันจนสร้างความไม่พอใจให้กับฝ่ายอนุรักษนิยม โดยในประเด็นแรกนั้น ทำให้จีนไม่พอใจไต้หวันเป็นอย่างมาก โดยตั้งแต่ปี 2016 ที่ไช่อิงเหวินชนะเลือกตั้งเป็นผู้นำประเทศด้วยคะแนนถล่มทลาย ทำให้จีนตัดขาดการติดต่อกับรัฐบาลไต้หวันทั้งหมด ระงับการติดต่อกับภาคธุรกิจ และทำให้นักท่องเที่ยวจีนลดลงฮวบๆ

แทนที่จะตระหนักว่าเศรษฐกิจของประเทศกำลังทรุด รัฐบาลไต้หวันตอบโต้แผ่นดินใหญ่ด้วยการประกาศว่าไม่ต้องการพึ่งพานักท่องเที่ยวจีน และยินดีที่นักท่องเที่ยวประเทศเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ ไต้หวันยังเคลื่อนไหวขอเปลี่ยนชื่อประเทศในการแข่งขันกีฬาระดับโลกจาก Chinese Taipei มาเป็น Taiwan นอกจากนี้ ไช่อิงเหวินและคนในรัฐบาลยังสนับสนุนคำพูดเรียกร้องเอกราชของผู้กำกับภาพยนตร์สารคดีในงานประกาศรางวัลภาพยนตร์ม้าทองคำ จนทำให้ชาวจีนแผ่นดินใหญ่ไม่พอใจอย่างมาก

แม้ท่าทีเหล่านี้จะเป็นจุดยืนของไช่อิงเหวินและ DPP มาแต่ไหนแต่ไร แต่ถือเป็นจุดยืนที่แข็งกร้าวเกินไป และในความเป็นจริง ภาคธุรกิจได้รับผลกระทบถ้วนหน้า แม้แต่เมืองเกาสงซึ่งเป็นเมืองหลักด้านธุรกิจที่เป็นฐานของกลุ่มเรียกร้องเอกราชก็ยังทนไม่ได้ ต้องโหวตไล่พรรค DPP ออกจากอำนาจ

ในวันถัดมาคือ 25 พ.ย. มีการลงประชามติรับรองการสมรสของกลุ่มคนรักเพศเดียวกัน ซึ่งทางรัฐสภาและศาลสูงรับรองแล้ว แต่เสียงประชาชนส่วนใหญ่ยังคัดค้าน แม้ว่าการลงประชามติจะไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย แต่สะท้อนว่าประชาชนไต้หวันเห็นตรงกันข้ามกับรัฐบาลอย่างชัดเจน และอาจทำให้กลุ่มความหลากหลายทางเพศต้องกังวลกับการยอมรับของสังคม

ข่าวเด่น

ข่าวที่น่าสนใจ