WORLD NEWS

โดย กองบรรณาธิการ M2F

30 กันยายน 2561 : 22:13 น.

ผลการศึกษาจากมหาวิทยาลัยสหประชาชาติ พบว่าขยะอิเล็กทรอนิกส์โดยเฉพาะสมาร์ทโฟนเพิ่มขึ้นถึง 8% ภายใน 2 ปี

ถือว่าเพิ่มขึ้นมากกว่าขยะชนิดอื่นๆ แต่กลับนำไปรีไซเคิลเพียง 20% หากเทียบขยะอิเล็กทรอนิกส์ 43 ล้านตัน ที่ถูกทิ้งในปี 2016 ก็เท่ากับน้ำหนักของพีระมิดกีซ่า 9 พีระมิดรวมกัน หรือหอไอเฟล 4,500 หอ

ด้วยเหตุนี้บริษัทสมาร์ทโฟนหลายแห่งจึงเริ่มคิดค้นวัสดุไฮเทคที่รักษาตัวเองได้เมื่อเกิดรอยขีดข่วน เพื่อลดปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่จะเป็นปัญหาต่อสิ่งแวดล้อม

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ซัมซุงได้ยื่นขอจดสิทธิบัตรส่วนประกอบวัสดุป้องกันการเกิดรอยนิ้วมือที่มีคุณสมบัติในการรักษาตัวเอง คาดกันว่าวัสดุเคลือบพิเศษที่ว่านี้จะทำให้ซัมซุง เอส10 ที่มีแผนเปิดตัวในปี 2019 มีคุณสมบัติในการปิดเชื่อมรอยข่วนเล็กๆ หรือโมโตโรลา ที่นำโพลีเมอร์ที่จดจำรูปร่างมาเป็นส่วนประกอบในการผลิตหน้าจอโทรศัพท์ เมื่อวัสดุได้รับความร้อน รอยแตกรอยข่วนก็จะกลับไปเป็นสภาพปกติ

หรือกรณีของนักวิจัยจาก ม.โตเกียว ของญี่ปุ่นที่ค้นพบกระจกที่ประสานตัวเองได้โดยบังเอิญ เพียงแค่ใช้มือกดกระจกที่แตกจากกันราว 30 วินาทีในอุณหภูมิห้องปกติ เศษที่แยกจากกันจะกลับมาเชื่อมกันอีกครั้งและแข็งแรงเหมือนเดิมภายในไม่กี่ชั่วโมง

แม้จะมีรายงานข่าวไปทั่วโลกว่ากระจกพิเศษจาก ม.โตเกียว มีโอกาสถูกใช้เป็นหน้าจอสมาร์ทโฟน ทว่า ทะคุโซ ไอดะ หนึ่งในผู้วิจัย เผยว่า โพลีเมอร์ชนิดนี้อาจไม่เหมาะ เนื่องจากไม่แข็งแรงพอจะรับแรงกดจากการใช้งานในชีวิตประจำวัน

ขณะที่ คริส บาราเนียค ผู้สื่อข่าวด้านเทคโนโลยีของบีบีซี เผยว่า แม้ว่าหน้าจอสมาร์ทโฟนรักษาตัวเองได้จะไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ แต่กว่าที่การทดลองต่างๆ จะเรียบร้อย สมาร์ทโฟนในอนาคตอาจรักษาตัวเองได้ด้วยวิธีอื่นไปแล้วก็เป็นได้

ข่าวเด่น

ข่าวที่น่าสนใจ