ทีมนักดาราศาสตร์พบ ก๊าซ"ฟอสฟีน" ในชั้นบรรยากาศของดาวศุกร์ ที่อาจบ่งชี้ถึงสิ่งมีชีวิตบนดาวศุกร์ แต่อาจเป็นรูปแบบที่แตกต่างไปจากโลกอย่างสิ้นเชิง
ดร.มติพล ตั้งมติธรรม - ผู้เชี่ยวชาญด้านดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 14 ก.ย. 63 ทีมนักดาราศาสตร์นำโดย Jane Greaves จาก Cardiff University สหราชอาณาจักร ได้เปิดเผยงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature Astronomy โดยมีการค้นพบโมเลกุลของฟอสฟีน ซึ่งอาจจะบ่งชี้ถึงความเป็นไปได้ที่อาจจะเกิดขึ้นจากสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในชั้นบรรยากาศของดาวศุกร์
ดาวศุกร์ เป็นดาวเคราะห์ที่ได้ชื่อว่าเป็นคู่แฝดกับโลก เนื่องจากมีทั้งขนาดและระยะห่างจากดวงอาทิตย์ที่ใกล้เคียงกับโลกมากที่สุด แม้ว่าดาวศุกร์จะอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์กว่าโลกเพียง 30% แต่สภาวะเรือนกระจกทำให้ดาวศุกร์มีชั้นบรรยากาศที่หนาแน่น และเก็บกักความร้อนไว้มหาศาลจนมีสภาวะอุณหภูมิพื้นผิวร้อนพอที่จะหลอมตะกั่วได้ นอกจากนี้ในชั้นบรรยากาศยังเต็มไปด้วยแก๊สของกรดกำมะถัน แต่ก็ยังมีความเป็นไปได้ที่ครั้งหนึ่งดาวศุกร์อาจเคยมีมหาสมุทรและมีสภาพอากาศที่เอื้อต่อการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิตมากกว่านี้
แต่บนชั้นบรรยากาศที่สูงขึ้นไป พบว่าที่ความสูงราว 50 กม. เหนือพื้นผิวดาวศุกร์กลับมีสภาพอากาศที่อ่อนโยน มีอุณหภูมิเพียง 30 องศาเซลเซียส และอาจจะมีสภาพที่พอเหมาะกับสิ่งมีชีวิตได้ คาดการณ์กันว่าชั้นเมฆในบรรยากาศของดาวศุกร์อาจจะมีองค์ประกอบทางเคมีเพียงพอที่จะกระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาที่นำไปสู่การกำเนิดของสิ่งมีชีวิต และยังคาดการณ์กันอีกว่าหากในชั้นบรรยากาศของดาวศุกร์นั้นมีสิ่งมีชีวิตอยู่จริง สิ่งมีชีวิตเหล่านี้อาจจะอาศัยรังสียูวีจากดวงอาทิตย์เป็นแหล่งพลังงาน ซึ่งนี่อาจเป็นคำอธิบายหนึ่งถึงตัวดูดกลืนรังสียูวีปริศนาบนชั้นบรรยากาศของดาวศุกร์ที่จนทุกวันนี้ยังไม่ทราบคำตอบเป็นที่แน่ชัด
นักดาราศาสตร์ได้ศึกษาองค์ประกอบของวัตถุใดนั้นจึงทำโดยการศึกษาสเปกตรัมที่วัตถุนั้นปลดปล่อยออกมา หากสามารถสังเกตสเปกตรัมในการดูดกลืนของวัตถุที่อยู่ห่างออกไป ซึ่งมีลักษณะ และรูปแบบช่วงการดูดกลืนคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่สอดคล้องกับโมเลกุลของสารที่สามารถวัดได้ในห้องทดลองบนโลก จึงเท่ากับสามารถยืนยันได้ว่าโมเลกุลชนิดเดียวกันนี้จะต้องมีอยู่บนดาวดวงที่ทำการศึกษาอยู่ โดยหากพบการดูดกลืนคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่ตรงกับโมเลกุลของฟอสฟีนจากสเปกตรัมที่ได้มาจากชั้นบรรยากาศของดาวศุกร์ จึงเท่ากับเป็นการยืนยันว่าในชั้นบรรยากาศนั้นมีโมเลกุลของฟอสฟีนอยู่
ทีมนักวิจัยที่นำโดย William Bains จาก Massachusetts Institute of Technology (MIT) จึงลองทำการประเมินกลไกตามธรรมชาติที่อาจจะผลิตฟอสฟีนได้บนดาวศุกร์ ตั้งแต่ แสงแดด แร่ธาตุทื่ถูกพัดขึ้นมาจากพื้นผิวเบื้องล่าง ภูเขาไฟระเบิด ฟ้าผ่า ฯลฯ แต่ไม่ว่าจะลองพิจารณาเช่นไร การคำนวณก็พบว่าแหล่งกำเนิดตามธรรมชาติเหล่านี้ไม่สามารถที่จะผลิตแม้กระทั่งปริมาณฟอสฟีนหนึ่งในหมื่นของที่ตรวจพบโดยกล้องโทรทรรศน์ แต่ในทางตรงกันข้าม หากทีมลองพิจารณาถึงแหล่งกำเนิดที่เกิดขึ้นจากสิ่งมีชีวิตแล้ว กลับพบว่าหากสิ่งมีชีวิตทำงานแค่เพียง 10% ของขีดจำกัดสูงสุด ก็จะสามารถผลิตฟอสฟีนเพียงพอที่จะอธิบายปริมาณที่ตรวจพบบนชั้นบรรยากาศของดาวศุกร์ได้แล้ว
อย่างไรก็ตาม การค้นพบนี้ยังห่างไกลจากการยืนยันถึงการมีอยู่ของสิ่งมีชีวิตพอสมควร แม้ว่าในปัจจุบัน ทฤษฎีที่บ่งชี้ว่าฟอสฟีนในชั้นบรรยากาศของดาวศุกร์นั้นเกิดขึ้นจากสิ่งมีชีวิตจะเป็นทฤษฎีที่อธิบายถึงปริมาณฟอสฟีนที่พบได้ดีที่สุด แต่การจะยืนยันว่าดาวศุกร์นั้นมีสิ่งมีชีวิตยังเป็นเรื่องที่ห่างไกลอีกมาก แม้ว่าชั้นบรรยากาศตอนบนของดาวศุกร์อาจจะมีอุณหภูมิเพียง 30 องศา แต่ชั้นบรรยากาศในบริเวณนี้นั้นก็ยังเต็มไปด้วยกรดกำมะถันกว่า 90% ซึ่งยังไม่พบว่ามีสิ่งมีชีวิตใดบนโลกที่สามารถอยู่รอดในสภาวะเช่นนั้นได้ หากชั้นบรรยากาศของดาวศุกร์มีสิ่งมีชีวิตจริง ก็เป็นไปได้ว่าสิ่งมีชีวิตบนดาวศุกร์นั้นอาจจะแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงกับสิ่งมีชีวิตใดๆ บนโลกที่รู้จัก