WORLD NEWS

20 ตุลาคม 2562 : 12:40 น.

ว่ากันว่าทุกๆ 20 นาที จะมีธุรกิจเกิดใหม่แบบสตาร์ทอัพ (Startup) เกิดขึ้น 1 รายในกรุงเบอร์ลิ

ว่ากันว่าทุกๆ 20 นาที จะมีธุรกิจเกิดใหม่แบบสตาร์ทอัพ (Startup) เกิดขึ้น 1 รายในกรุงเบอร์ลิน ทำให้เมืองหลวงของเยอรมนีแห่งนี้กลายเป็นพื้นที่ที่ฮอตที่สุดแห่งหนึ่งในวงการสตาร์ทอัพ ด้วยปัจจัยที่เกื้อหนุนหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นค่าเช่าที่ต่ำ ทัศนคติที่เปิดกว้าง และมีบรรยากาศเอื้อต่อการลงทุน ยังไม่นับการที่เบอร์ลินถูกคาดหวังว่าจะเป็นศูนย์กลางธุรกิจไฮเทคในอนาคต

ด้วยปัจจัยเหล่านี้ทำให้ธุรกิจเกิดใหม่ต้นทุนน้อย แต่เล็งผลเลิศสูงอย่างสตาร์ทอัพสามารถหยั่งรากและผลิดอกออกผลได้อย่างงดงามที่นี่ ไม่แพ้เมืองอื่นๆ ที่ฮอตไม่แพ้กัน เช่น ลอนดอน

หนึ่งในดาวเด่นของสตาร์ทอัพจากเบอร์ลินคือ ซาลันโด (Zalando) ธุรกิจอีคอมเมิร์ซสินค้าแฟชั่น ที่เริ่มกิจการมาตั้งแต่ปี 2008 ถือเป็นผู้บุกเบิกธุรกิจในกลุ่มนี้และเป็นหนึ่งในตัวอย่างของความสำเร็จระดับนานาชาติ

อันที่จริงแล้ว ซาลันโด เป็นช่องทางทำธุรกิจของบริษัทร็อคเก็ต อินเทอร์เน็ต (Rocket Internet) ซึ่งก็เป็นสตาร์ทอัพเหมือนกัน และ ซาลันโด เป็นหนึ่งในรูปแบการลงทุนที่หลากหลายของบริษัทนี้ ในช่วงที่อีคอมเมิร์ซเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ

ผู้ก่อตั้ง ซาลันโด คือ โรเบิร์ท เกนซ์ และ ดาวิด ชไนเนอร์ โดยวางโมเดลการทำธุรกิจตามรอย zappos.com เว็บไซต์ค้าปลีกของสหรัฐ และในตอนแรก ซาลันโด เน้นขายรองเท้าเป็นหลัก ต่อมาเริ่มขยายวงครอบคลุมเสื้อผ้าแฟชั่นและชุดกีฬา จนกระทั่งสามารถขยายตลาดไปภายนอกประเทศเพียง 2 ปีหลังจากเริ่มให้บริการ

ปัจจุบัน ซาลันโด คือเว็บขายสินค้าแฟชั่นที่ใหญ่ที่สุดในโลกไปเรียบร้อยแล้ว ด้วยรายได้สูงถึง 2,214 ล้านยูโร (ตัวเลขเมื่อปี 2014) อย่างไรก็ตาม สถานะของมันอาจจะต้องปรับจากสตาร์ทอัพมาเป็นกิจการขนาดใหญ่เล็งเป้าหมายระยะไกล เพราะตอนนี้มีพนักงานมากถึงกว่า 10,000 ชีวิต มีศูนย์กระจายสินค้าในพื้นที่กว้างขวางถึง 1.3 ตร.ฟุต และครอบคลุมตลาดยุโรปตะวันตกเกือบทั้งภูมิภาค

มีเรื่องน่าสนใจเกี่ยวกับ ซาลันโด อยู่อย่างหนึ่งก็คือ ผู้บริหารของที่นี่ยอมรับอย่างเต็มอกว่ารับแนวคิดการทำธุรกิจมาจากยักษ์ใหญ่อย่างแซปโพส (Zappos) และอเมซอน (Amazon) โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าแฟชั่น หรือแม้แต่แนวทางการทำธุรกิจจากยักษ์ใหญ่นอกวงการออนไลน์อย่าง H&M

แต่สิ่งที่ทำให้ ซาลันโด แตกต่างและประสบความสำเร็จคือการตัดสินใจของผู้บริหารในการนำองค์ประกอบต่างๆ จากบริษัทต่างๆ มาผสมผสานกันจนได้สูตรเฉพาะของตัวเอง

อย่างไรก็ตาม สูตรการทำธุรกิจของบริษัทนี้ถูกจับตามองเช่นกันว่ากำลังสร้างค่านิยมผิดๆ ให้กับวงการสตาร์ทอัพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาไม่นานมานี้ที่สตาร์ทอัพเริ่มบูมในเยอรมนี

ประเด็นที่ ซาลันโด ถูกวิจารณ์อย่างหนัก คือการใช้งานพนักงานอย่างหนักภายใต้แรงกดดันสูง สภาพไม่ต่างจากที่พนักงานของอเมซอนต้องเผชิญ รวมถึงระบบการจัดส่งสินค้าที่แม้จะมีประสิทธิภาพ แต่ก็ใช้งานพนักงานหนักเช่นกัน เช่น พนักงานจัดส่งภายในศูนย์บางคนต้องเดินวนไปวนมาเพื่อจัดเตรียมสินค้าถึงวันละกว่า 25 กม. หรือสายส่งบางคนต้องขับรถถึงวันละ 200 กม.ภายในวันเดียวก็มี

นี่เป็นช่องโหว่ของ ซาลันโด ที่ธุรกิจเกิดใหม่ต้องศึกษาไว้ เพราะอาจกระทบต่อภาพลักษณ์สินค้า หรืออย่างร้ายที่สุดอาจเจอใบแดงจากภาครัฐก็เป็นได้

ภาพ Twitter/@Zalando

 

ข่าวเด่น

ข่าวที่น่าสนใจ