รายงานพิเศษต่างประเทศ
ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่ชี้ว่า สัตว์โลกล้านปีตัวใหญ่กว่าตึก 10 ชั้นในยุคปัจจุบัน สูญพันธุ์ไปหลังจากกลุ่มอุกกาบาตพุ่งเข้าชนโลกเมื่อ 66 ล้านปีที่แล้ว
อย่างไรก็ดี ยังมีการศึกษาถึงสาเหตุการสูญสิ้นอื่นๆ รวมถึงการหาเหตุผลมาหักล้างว่าแท้จริงแล้ว วัตถุนอกโลกเกี่ยวข้องกับการล้างเผ่าพันธุ์ไดโนเสาร์จริงหรือ?
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเอดินเบิร์กแห่งสกอตแลนด์ ร่วมสนับสนุนสมมติฐานที่ว่า ไดโนเสาร์หายไปจากโลกใบนี้เพราะอุกกาบาตจริง ด้วยเหตุผลที่ว่า วัตถุนอกโลกพุ่งลงมายังโลกโดนพวกมันที่กำลังอยู่ในช่วงย่ำแย่ที่สุดของยุคไดโนเสาร์ หรือเรียกง่ายๆ ว่า “สูญพันธุ์เพราะโชคร้ายถึงขีดสุด” นั่นเอง
หัวข้อการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Biological Review ของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ของอังกฤษ อธิบายว่า ความโชคร้ายหรือความซวยที่ร่วมล้างหมู่มวลสัตว์ขนาดใหญ่ที่อาศัยอยู่บนโลกนานกว่า 16 ล้านปี มีทั้งจำนวนประชากรที่ลดลงของแต่ละเผ่าพงศ์ ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นจนทำลายที่อยู่อาศัยของพวกมัน และภูเขาไฟระเบิดหลายต่อหลายครั้งที่คร่าชีวิตฝูงไดโนเสาร์อย่างกะทันหัน ซึ่งเมื่ออุกกาบาตหล่นลงมาถล่มโลกในช่วงเวลานี้ จึงส่งผลให้สัตว์เหล่านี้สูญพันธุ์หมดไปในที่สุด
งานวิจัยยังชี้ว่าว่า ไดโนเสาร์บางประเภทเริ่มเข้าสู่ช่วงสูญพันธุ์ก่อนหน้าอุกกาบาตล้างโลก และเป็นสาเหตุหนึ่งที่ส่งเสริมแนวคิดไดโนเสาร์หายไปในช่วงที่เผ่าพันธุ์อ่อนแอ
นอกจากนี้ ยังพบความเป็นไปได้ว่า หากเหล่าอุกกาบาตพุ่งเข้าชนโลกก่อนหน้าช่วงเวลาที่เกิดขึ้นไปแล้วสัก 5 ล้านปี ไดโนเสาร์อาจจะไม่สูญพันธุ์ เพราะช่วงเวลานั้นพวกมันมีเผ่าพันธุ์และจำนวนประชากรมาก ห่วงโซ่อาหารก็อยู่ในระดับดีมาก ซึ่งยากจะถูกทำลายลง เพราะก่อนหน้าที่จะสูญพันธุ์จริง มีความเป็นไปได้ว่าพวกมันเคยประสบความยากลำบากมาก่อน แต่ปัจจัยหลายอย่างยังคอยเกื้อหนุนอยู่ จึงอยู่รอดมาได้
นักวิทยาศาสตร์ยังคาดการณ์กันต่อไปด้วยว่า หากอยู่เหลือรอดมาได้จนถึงยุคปัจจุบัน พวกมันอาจมีวิวัฒนาการด้านความคิดที่เฉลียวฉลาด คิดวิเคราะห์เป็น แต่คงไม่ถึงขั้นกลายเป็นสายพันธุ์สิ่งมีชีวิตที่ต่อกรช่วงชิงพื้นที่กับมนุษย์อย่างดุเดือดได้ เพราะมีแนวโน้มว่าการพัฒนาอาจไปได้ไม่ไกลเท่ากับมนุษย์ 
Photo by TIMOTHY A. CLARY / AFP