โดย จารุณี นาคสกุล
ภาพยนตร์ชีวิตแนวตลกดราม่า Green Book คว้ารางวัลใหญ่ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากเวทีออสการ์ไปนอนกอด ถือว่ามาวินแซงโค้ง Roma ภาพยนตร์ชีวิตของผู้กำกับมากฝีมือ อัลฟอนโซ กัวรอน ที่มาแรงมากชนิดกวาดรางวัลมาทุกเวทีก่อนหน้านี้
แต่วันนี้เราไม่พูดถึงตัวภาพยนตร์ ทว่าจะเล่าถึงที่มาของชื่อของภาพยนตร์ที่เพิ่งคว้ารางวัลมาหมาดๆ เรื่องนี้กัน Green Book ได้ชื่อมาจากหนังสือ The Negro Motorist Green Book หรือ The Negro Travelers’ Green Book หรือเรียกสั้นๆ ว่า Green Book ซึ่งเป็นหนังสือไกด์บุ๊คสำหรับการเดินทางด้วยรถยนต์ที่แนะนำร้านอาหาร โรงแรม ปั๊มน้ำมัน และที่พักที่พร้อมจะต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวแอฟริกัน-อเมริกันในช่วงที่สหรัฐยังเต็มไปด้วยการแบ่งแยกคนขาวคนดำอย่างรุนแรง
Green Book ริเริ่มขึ้นโดย วิกเตอร์ ฮิวโก กรีน บุรุษไปรษณีย์ผิวสีในมหานครนิวยอร์กของสหรัฐ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการเดินทางท่องเที่ยวกับคนเชื้อสายแอฟริกันอเมริกัน ตีพิมพ์ประจำปีตั้งแต่ปี 1936-1966 เริ่มแรกหนังสือแนะนำเฉพาะเส้นทางในนิวยอร์ก ก่อนจะขยายไปยังห้างร้านต่างๆ ในแถบอเมริกาเหนือ รวมทั้งพื้นที่ส่วนใหญ่ของสหรัฐ บางส่วนในแคนาดา เม็กซิโก แคริบเบียน และเบอร์มิวดา
ในช่วงที่กรีนออกหนังสือคู่มือท่องเที่ยวนั้น สหรัฐมีกฎหมายที่เรียกว่า Jim Crow หรือกฎหมายแบ่งแยกสีผิวที่บังคับใช้กันในระดับท้องถิ่นและระดับรัฐในแถบภาคใต้ของสหรัฐ ซึ่งทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติกับคนผิวดำ ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือการแยกสถานที่และข้าวของเครื่องใช้ระหว่างคนขาวกับคนดำ เช่น อาคาร สนามกีฬา ร้านอาหาร ไปจนถึงระบบขนส่งสาธารณะที่คนผิวดำจะต้องเดินเข้าไปนั่งช่วงหลังของรถบัส ส่วนคนผิวขาวก้าวผ่านประตูแล้วนั่งได้ทันที หรืออย่างที่ตัวละครผิวขาวในภาพยนตร์โยนแก้วน้ำ 2 ใบที่ช่างประปาผิวสีดื่มไว้ด้วยความรังเกียจ
ด้วยเหตุนี้ หลังจากคนแอฟริกันอเมริกันเริ่มลืมตาอ้าปากได้และรถยนต์อยู่ในราคาที่พวกเขาเอื้อมถึง คนกลุ่มนี้จึงไม่รอช้าที่จะซื้อรถยนต์ส่วนตัวเพื่อหลีกเลี่ยงความยุ่งยากในการเดินทางร่วมกับคนผิวขาว แต่กลับกลายเป็นว่าเกิดปัญหาใหม่ตามมา ไม่ว่าจะเป็นการปฏิเสธไม่ให้บริการทั้งในร้านอาหาร โรงแรม หรือแม้แต่ปั๊มน้ำมัน หรือถูกตำรวจจับตามอำเภอใจโทษฐานเป็นคนผิวดำแต่ (บังอาจ) ขับรถยนต์
นอกจากนี้ แม้บางเมืองจะมีสิ่งอำนวยความสะดวกให้บริการคนผิวดำบ้างแต่ก็น้อยยิ่งกว่าน้อย โดยเฉพาะพื้นที่นอกเหนือจากแถบภาคใต้ที่แทบจะไม่มีเลย ส่งผลให้การเดินทางของคนผิวดำค่อนข้างลำบาก บางครั้งก็ต้องอาศัยนอนในรถเพราะไม่มีโรงแรมไหนต้อนรับ โทมัส ซักกรู นักประวัติศาสตร์ชาวอเมริกัน เผยว่า สมัยนั้นนักเดินทางผิวดำต้องพกกระป๋องหรือห้องน้ำแบบพกพาไว้หลังรถ รวมทั้งเตรียมอาหารและน้ำมันเชื้อเพลิงให้เพียงพอ เพราะร้านค้าระหว่างทางมักจะไม่ต้อนรับพวกเขา
ไกด์บุ๊คเล่มนี้จึงได้รับความนิยมล้นหลามจากบรรดาคนผิวดำจนถูกยกให้เป็น “คัมภีร์ท่องเที่ยวสำหรับคนดำ” ในช่วงกลางของศตวรรษที่ 20 จนกระทั่งมีการประกาศใช้กฎหมายสิทธิพลเมืองในปี 1964 ซึ่งบัญญัติห้ามเลือกปฏิบัติกับคนผิวดำ ทำให้หนังสือได้รับความนิยมน้อยลงจนกระทั่งหยุดพิมพ์ในปี 1967 แต่ถึงอย่างนั้นหนังสือเล่มนี้ก็เป็นหลักฐานสะท้อนสังคมอเมริกันในขณะนั้นได้ดีว่ามีการแบ่งแยกและเหยียดคนผิวสีรุนแรงเช่นไร
ภาพ : www.digitalcollections.nypl.org