โดย จารุณี นาคสกุล
“การผลิตหนังเทียม 1 ตร.ม.ต้องใช้สารเคมีถึง 2 กก. และสุดท้ายแล้วสารเคมีที่เป็นอันตรายเหล่านั้นก็จะไปตกค้างอยู่ในมหาสมุทรและปนเปื้อนอยู่ในสภาพแวดล้อม แล้วย้อนกลับมาเล่นงานมนุษย์โดยที่เราไม่รู้ตัว พวกเราจึงอยากจะช่วยโลกด้วยการผลิตหนังที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” มาร์ท เอริก มาร์เตนส์ หนึ่งในผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่ด้านเทคโนโลยี (CTO) ของ Gelatex Technologies สตาร์ทอัพสายรักษ์โลกเผย
วัตถุดิบที่ Gelatex Technologies นำมาใช้แทนหนังนั้นแทบไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นไปได้ นั่นก็คือ เจลาตินที่ได้จากกระดูก เส้นเอ็น หรือหนังสัตว์แบบเดียวกับที่ใช้ทำวุ้นที่เรากินกันแทบทุกวันนี่แหละ แถมยังย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ ผิดกับหนังเทียมที่ไม่สามารถย่อยสลายเองได้และต้องใช้น้ำในการผลิตสูงถึง 5,000 ลิตร เมื่อเทียบกับหนังของ Gelatex Technologies ที่ใช้เพียง 65 ลิตรเท่านั้น
จุดขายอีกอย่างหนึ่งของหนังจากเจลาตินคือราคาที่ถูกลงถึงครึ่งหนึ่ง ผิดกับความเชื่อเดิมๆ ของหลายคนว่าวัสดุรักษ์โลกจะต้องมีราคาสูง โดยหนังฟอกโครมราคาเฉลี่ย 1,430 บาทต่อ ตร.ม. แต่หนังจาก Gelatex Technologies ราคาเพียง 715 บาทต่อ ตร.ม.เท่านั้น ทำให้ต้นทุนของสินค้าที่ใช้หนังเจลาตินมีราคาถูกลงไปด้วย
Gelatex Technologies เกิดจากการต่อยอดไอเดียงานวิจัยของ มาร์เตนส์ ที่ทุ่มเทศึกษาวัสดุที่ได้จากเจลาตินตลอด 3 ปีที่ศึกษาด้านวัสดุศาสตร์ใน ม.ตาร์ตู ของเอสโตเนีย ผนวกกับประสบการณ์ด้านเทคโนโลยีเครื่องนุ่งห่มของ มารี แอน ไมโก ฟอนเซกา ผู้ร่วมก่อตั้ง นอกจากนี้ ยังร่วมมือกับนักวิจัยจากสถาบันเคมีและสถาบันฟิสิกส์แห่ง ม.ตาร์ตู เพื่อพัฒนาการผลิตหนัง
ตอนนี้หนังเจลาตินยังอยู่ในช่วงพัฒนาและวิจัย โดยมีแผนจะเปิดตัวผลิตภัณฑ์ภายในต้นปี 2020 ในยุโรปตอนเหนือและตอนกลาง
แม้ว่าหนังของ Gelatex Technologies จะใช้วัสดุแปลกใหม่และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม กาดรี กรูส นักออกแบบกระเป๋าชาวเอสโตเนีย กลับกังวลว่าจะมีผู้บริโภคบางส่วน โดยเฉพาะชาววีแกนไม่ใช้สิ่งทอที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เนื่องจากส่วนหนึ่งของหนังก็ยังมาจากสัตว์
แต่ถึงอย่างนั้นตัวเลือกนี้ก็ยังเป็นทางเลือกที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าหนังเทียม
ภาพ : Gelatex Technologies