รอยสักหรือลวดลายที่วาดลงบนผิวหนังของร่างกายแบบไม่ถาวรอย่าง แทตทู (tattoo) ก็ดี เป็นศิลปะอย่างหนึ่งที่ผู้คนทุกกลุ่มชนชั้นชื่นชอบมาช้านาน
ล่าสุด การสักลายยังไม่จำกัดอยู่แค่ความสวยงามยามมองเห็น เมื่อกลุ่มวิศวกรจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) ของสหรัฐ พัฒนาแทตทูที่ "มีชีวิต" รุ่นแรกของโลก ที่สามารถตอบสนองต่อสิ่งเร้าภายนอกไปจนถึงติดต่อสื่อสารกับแทตทูอีกชิ้นหนึ่งได้
เป้าหมายของการพัฒนาแทตทูสุดล้ำที่เคยเห็นแค่ในภาพยนตร์แนววิทยาศาสตร์มีมากมายหลากหลาย ตั้งแต่การสร้างแผ่นแปะยืดหยุ่นหรือสติ๊กเกอร์ตรวจจับสารเคมี หรือโมเลกุลเฉพาะที่ต้องการ ไปจนถึงการผลิตยาเพื่อการรักษาโรคในแนวทางที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในปัจจุบัน โดยคร่าวๆ ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับวงการอุตสาหกรรมและการแพทย์
นวัตกรรมแทตทูของทีมผู้คิดค้นและผลิตของสถาบัน MIT มีลักษณะหน้าตาเหมือนเส้นสายกิ่งก้านของต้นไม้ ซึ่งเป็นน้ำหมึกจากแบคทีเรียชนิดหนึ่ง พิมพ์ออกมาด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ลงบนแผ่นไฮโดรเจลซึ่งทำจากน้ำกับสารสังเคราะห์โพลีเมอร์ เมื่อพิมพ์ภาพเหล่านี้ออกมาทับกันเป็นชั้นๆ ก็จะกลายเป็นโครงสร้าง 3 มิติ
วิศวกรสามารถกำหนดให้เส้นสายแต่ละเส้นตอบโต้ต่อสารประกอบแตกต่างกัน โดยแบ่งเป็นสีต่างๆ การตอบโต้ของแบคทีเรียต่างๆ กระทำด้วยการสว่างวาบขึ้น เมื่อสัมผัสได้ถึงโมเลกุลหรือสารประกอบเคมี หรืออาจเปลี่ยนเมื่อรับรู้ถึงสภาพอากาศและความเป็นกรดด่างก็ได้
แทตทูที่พิมพ์จะแข็งตัวคงที่เป็นรูปร่างเมื่อนักทดลองนำไปฉายแสงรังสีอัลตราไวโอเลตก่อนจะนำมาแปะลงบนผิวหนังมนุษย์
ทำไมถึงต้องเป็นแบคทีเรีย เซลล์ที่แค่ได้ยินชื่อก็ไม่อยากจะเข้าใกล้? นั่นเป็นเพราะว่า แบคทีเรียที่นักทดลองเลือกมาใช้สามารถคงอยู่เกาะติดกับแผ่นเจลได้ดีที่สุด แม้ในสภาพแวดล้อมที่ทำลายหรือกัดกร่อนแทตทูได้
ก่อนหน้าที่นักวิจัยจะเลือกใช้แบคทีเรีย ได้ทำการทดลองใช้เซลล์สิ่งมีชีวิตเลี้ยงลูกด้วยนม ซึ่งอ่อนแอและฉีกขาดง่าย มันเสียหายจนไม่สามารถใช้การได้ตั้งแต่ขั้นตอนการพิมพ์แล้ว
นอกจากนี้ กลุ่มวิศวกรยังพัฒนาให้เซลล์แทตทูเหล่านี้ตอบโต้กับเซลล์แทตทูอื่นได้ด้วย ด้วยการพิมพ์แผ่นไฮโดรเจลกับแบคทีเรียและสารเคมีรับส่งสัญญาณ ซึ่งในอนาคตพวกเขามีเป้าหมายใช้เทคนิคการพิมพ์นี้พิมพ์ด้วยคอมพิวเตอร์มีชีวิต แน่นอนว่าเซลล์เหล่านี้จะต้องสามารถติดไปกับพื้นผิวต่างๆ ได้ ซึ่งเบื้องต้นก็คือผิวหนังของมนุษย์นั่นเอง 
ภาพ - Spencer Platt/Getty Images/AFP