รายงานพิเศษต่างประเทศ
บ้านในโลกอนาคต
การสร้างตึกอาคารหรือบ้านเมืองแบบเป็นชุมชนใหญ่ด้วยการคลิกทำจากระบบคอมพิวเตอร์ ไม่ใช่แค่ภาพแฟนตาซีที่พบเห็นได้ในนิยายวิทยาศาสตร์เท่านั้น เพราะปัจจุบันบริษัทพัฒนาเทคโนโลยีหลายแห่งกำลังพยายามปั้นนวัตกรรมในมือให้สามารถทำได้เช่นนั้นจริง เช่น Cazza สตาร์ทอัพด้านก่อสร้างด้วยการใช้เทคโนโลยีสร้างแบบอัตโนมัติแบบที่ลดหรือไม่มีแรงงานมนุษย์เลย เช่น เครนจากระบบพิมพ์ 3 มิติ ที่มีชื่อว่า Minitank (มินิแท็งก์) ซึ่งสามารถก่อคอนกรีตพื้นที่กว่า 200 ตร.ม. ได้ภายในวันเดียว ใช้เวลาน้อยกว่าเกินครึ่งของการเทคอนกรีตแบบปกติ
วิธีก่อสร้างรูปแบบใหม่ ความประหยัดและการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมคือจุดขาย Cazza เคลมค่าใช้จ่ายน้อย เพราะเครนก่อคอนกรีตสามารถพิมพ์ขึ้น ณ ที่ก่อสร้างได้เลย ลดค่าขนย้าย ก่อขยะน้อย หรือลดมลภาวะเมื่อเทียบกับการก่อสร้างแบบปกติด้วย
หรือการย้ายไปอยู่ที่ดาวเคราะห์ดวงอื่น บริษัทสถาปัตยกรรมอเมริกา Clouds Architecture Office กับแผนสร้างตึกระฟ้าที่สุดเท่าที่โลกเคยมีมา ที่ไม่ตั้งอยู่บนโลก แต่ลอยลงมาจากท้องฟ้าแทน ตึกนี้มีชื่อว่า Analemma Tower (อนาเลมมา ทาวเวอร์) ลอยลงมาจากฟ้าด้วยการติดตั้งตึกกับโครงเคเบิลที่แข็งแรง จากการพัฒนาเทคโนโลยีชั้นเลิศที่สุดเท่าที่สามารถทำได้ และยึดมันกับดาวเคราะห์น้อยที่โคจรอยู่นอกโลกอีกที
ตึกห้อยจากฟ้ายังมีครบทุกความต้องการของการใช้ชีวิต ตั้งแต่ที่อยู่อาศัย พื้นที่เกษตรกรรม สำนักงาน ย่านการค้า แหล่งพักผ่อนหย่อนใจ ไปจนถึงสถานที่ประกอบพิธีศพและเก็บรักษาเถ้า และสถานีติดต่อเดินทางกับพื้นดินโลก
กับแผนการสร้าง “แดนสวรรค์” ในอวกาศอย่าง ศูนย์วิจัยอากาศยานนานาชาติ (Aerospace International Research Center) แห่งประเทศออสเตรีย ก่อตั้งโดย อิกอร์ อาชูรเบย์ลี นักวิทยาศาสตร์ชาวรัสเซีย-อาเซอร์ไบจาน ในชื่อ แอสการ์เดีย (Asgardia) เป็นสถานีอวกาศที่ลอยอยู่ระหว่างชั้นบรรยากาศของโลกกับอวกาศอันไพศาล เป็นทั้งศูนย์อวกาศ เป็นทั้งเทอร์มินอล หรืออาคารที่พักผู้โดยสาร และเป็น “รัฐชาติ” (Nation state) ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อรองรับกิจกรรมด้านอวกาศของชาวโลกโดยไม่มีชาติใดชาติหนึ่งเป็นผู้ผูกขาด
สูงสุดอาจจะกลับสู่สามัญด้วย uBox บ้านสำเร็จรูปอัตโนมัติที่สามารถเปลี่ยนรูปร่างจากบล็อกขนาดเท่ารถบรรทุกเป็นบ้านที่พร้อมเข้าอยู่ภายใน 10 นาที องค์ประกอบสำคัญคือ ระบบกลไกที่ควบคุมการกางออกหรือพับเข้าของตัวบ้าน เจ้าของบ้านเพียงกดปุ่มบ้านก็จะค่อยๆ กางออกทันที ส่วนการพับเก็บจะบังคับด้วยข้อเหวี่ยงที่มีความปลอดภัย ป้องกันการกดปุ่มพับเก็บบ้านโดยไม่ตั้งใจ โดยจะทำงานก็ต่อเมื่อพื้นบ้านพับเก็บเรียบร้อยแล้ว
รถติดก็บินสิ
บริษัท Martin Aircraft Company ทดลองบิน Jetpack อุปกรณ์เคลื่อนที่บนอากาศที่สามารถรองรับน้ำหนักของผู้คนหรือสิ่งของ และนำพาไปยังที่หมายได้ เดินทางได้ไกล 850 ม. ด้วยความเร็ว 45 กม.ต่อ ชม. ใช้เวลาทั้งสิ้น 28 นาที หากเริ่มขึ้นบินจริง อาจจะต้องมีระบบและกฎจราจรบนท้องฟ้าเพื่อป้องกันอุบัติเหตุ
อีกแห่งคือ บริษัทสตาร์ทอัพ Kitty Hawk หนุนโดย แลร์รี่ เพจ เจ้าพ่อกูเกิล เปิดตัว The Flyer ยานพาหนะบินได้น้ำหนักเบาที่สามารถบินขึ้นลงในแนวดิ่ง (VTOL) โดยใช้ใบพัดขนาดเล็กใต้ฐานเป็นตัวช่วยยกตัวขณะขึ้นบิน สตาร์ทอัพรายนี้เคลมว่า ได้รับใบอนุญาตจากสำนักงานบริหารการบินแห่งชาติ หรือ FAA ให้ขึ้นบินในพื้นที่ที่การจราจรบนท้องฟ้าไม่แออัด โดยที่ผู้ขับไม่ต้องมีใบอนุญาตนักบินด้วย
ส่วน Lilium สตาร์ทอัพจากนักศึกษาของ ม.มิวนิกของเยอรมนี เปิดตัว Lilium Jet รถยนต์บินได้ขนาด 2 ที่นั่ง ที่ปล่อยควันที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและมนุษย์ มีเสียงเบา สามารถทำความเร็วบนท้องฟ้าได้ถึง 300 กม.ต่อ ชม. มาพร้อมระบบความปลอดภัยที่แยกการปกป้องเครื่องยนต์ต่างหากจากกัน หากเครื่องใดเครื่องหนึ่งขัดข้อง อีกเครื่องที่เหลือยังทำงานต่อไปได้
ล้ำทันโรค
สตาร์ทอัพ Canary Speech จากสหรัฐ คิดค้นวิธีวิเคราะห์อาการป่วยของโรคเกี่ยวกับระบบประสาทจากเสียงพูดของคนไข้ ด้วยระบบอัลกอริทึ่มวิเคราะห์รูปแบบเสียงของคนว่ามีภาวะของโรคพาร์กินสัน สมองเสื่อม หรืออัลไซเมอร์ ซึ่งโรคข้างต้นเป็นโรคทางระบบประสาท ที่ผู้ป่วยจะมีอาการเวลาพูด
สตาร์ทอัพหลายเจ้า อาทิ 23andMe, FitnessGenes, UBiome, DNAFit, Orig3n และ Habit ผุดชุดตรวจพันธุกรรม หรือดีเอ็นเอ เพื่อรู้จักร่างกายแบบลึกซึ้งถึงยีน มุ่งเป้ากลุ่มผู้ออกกำลังกายที่มักประสบภาวะร่างกายไร้ความเปลี่ยนแปลง เมื่อออกกำลังกายไประยะหนึ่ง โรบิน สมิธ ผู้บริหารจาก Orig3n บอกว่า อุปกรณ์เหล่านี้มีผลดีในระยะยาว เพราะเมื่อผู้คนรู้ว่าควรหรือไม่ควรเสียเวลาไปกับเรื่องอะไร ก็ช่วยประหยัดเวลา พลังงาน และเงิน
สุดแปลก...แปลกสุด
สตาร์ทอัพที่โดดเด่นเกิดได้เช่นกันจากการคิดต่าง ปีนี้ยกให้ธุรกิจ The Break Up Shop ให้บริการบอกเลิกราความสัมพันธ์กับคนรัก สนนค่าบริการตั้งแต่ 10 เหรียญแคนาดา สำหรับการแจ้งผ่านข้อความหรืออีเมล ไปจนถึง 80 เหรียญแคนาดา ซึ่งจะมีกิฟต์เซตเป็นคุกกี้และไวน์ส่งให้ถึงมือผู้ถูกบอกเลิกด้วย
ภาพ - REUTERS/Mike Blake