WORLD NEWS

โดย M2F Writer

06 กุมภาพันธ์ 2562 : 18:00 น.

เช่นเดียวกับการสร้างกีฬาตามขนบที่ต้องปลูกฝังความสามารถกันตั้งแต่ยังเยาว์วัย กีฬาประเภทอีสปอร์ต (Esports) ก็เช่นเดียวกัน ไม่ใช่แค่ว่าชอบเล่นเกมแล้วจะกระโจนเข้าสู่สนามรบได้ในทันทีเสียเมื่อไหร่

ขณะที่ประเทศไทยกำลังผลักดันกีฬาชนิดนี้ให้ได้รับการยอมรับ ประเทศอื่นๆ กำลังก้าวกระโดดอย่างรวดเร็ว และปูพื้นฐานในการสร้างนักกีฬาอีสปอร์ตแบบ “ฟาสต์แทร็ก” คือบ่มเพาะพวกเขาโดยไม่ต้องพะวงว่าการเล่มเกมจะทำให้เสียคน

เพราะเกมนั่นแหละที่จะสร้างคน!

หนึ่งในสถาบันที่ช่วยสร้างยอดคนในวงการอีสปอร์ตของแคนาดา คือ โรงเรียนมัธยมปลายเอดูอาร์ด-มงต์เปอตี (Édouard-Montpetit High School) ในเมืองมอนทรีออล ซึ่งให้โอกาสเด็กที่มีความสามารถได้เข้าโปรแกรมพิเศษ นั่นคือ “เรียนครึ่งหนึ่ง เล่นเกมครึ่งหนึ่ง”

นั่นคือ นักเรียนที่เข้าโครงการจะใช้เวลาเรียนตามแบบในช่วงเช้า จากนั้นในช่วงบ่ายจะเดินทางไปฝึกปรือฝีมือการเล่นเกมที่สถาบันอีสปอร์ตแห่งมอนทรีออล (Montreal Esports Academy) ในช่วงครึ่งหลังของวัน

จากการรายงานของสถานีโทรทัศน์ CBC พบว่า มีนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการประมาณ 10-15 คนในปีแรก

แต่อย่าเข้าใจผิดว่า เด็กเหล่านี้จะเรียนแค่นิดหน่อย หรือเล่นกันซะเยอะ เพราะช่วงเช้าที่ไปเรียนตามแบบ นักเรียนจะต้องเรียนให้เท่ากับที่ต้องเรียนทั้งวันในเวลาจำกัด เมื่อเปลี่ยนโหมดมาเล่นเกม ก็ไม่ได้เล่นเอามันส์ เพราะต้องมีทีมโค้ชมืออาชีพคอยควบคุม

จากข้อมูลของ CBC พบว่า ตารางการฝึกมีดังนี้ คือ ออกกำลังกาย 30 นาที ศึกษาทฤษฎี 75 นาที เล่มเกม 120 นาที และพัก 15 นาที

จะเห็นได้ว่า แม้จะเป็นการเล่มเกมออนไลน์ แต่ความแข็งแกร่งทางกายก็สำคัญ และอันที่จริงแล้ว การฝึกฝนร่างกายเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้คนในวงอีสปอร์ตสามารถอ้างกับผู้ที่คอยเซ้าซี้ได้ว่า พวกเขาคือนักกีฬาเช่นกัน แม้ว่าคำอ้างนี้จะไม่ใช่เหตุผลที่หนักแน่นนัก แต่ก็เป็นคำตอบที่เหมาะสมสำหรับคำถามที่น่าจะสบอารมณ์นัก

พาทริค โรม-เอสปิโนซา หนึ่งในผู้บริหารจัดการของ Montreal Esports Academy บอกกับสำนักข่าว Global News ของแคนาดาว่า “มันเป็นเกม มันเป็นการแข่งขัน มีผู้ชนะ และมีผู้แพ้ มีน้ำใจนักกีฬา มีเป้าหมาย และมีกระตุ้นเร้า” พูดง่ายๆ ก็คือ มันคือกีฬาอย่างแน่นอน

และแน่นอนว่า โครงการนี้ไม่ฟรี พ่อแม่ต้องเสียเงินปี 2,500 เหรียญในแต่ละปี แต่อันที่จริงแล้วเรื่องเงินไม่สำคัญเท่ากับว่า พ่อแม่ของเด็กมีใจสนับสนุนหรือไม่ และหากสนับสนุนความฝันของลูกๆ พ่อแม่จะยอมทนกับมโนทัศน์เดิมๆ ที่จะคอยหลอกหลอนตัวเองได้หรือไม่ว่า “เล่นเกมแล้วจะไปทำอะไรกิน?”

นี่จึงเป็นถามว่า คุ้มไหมกับการทำโปรมแกรมการเรียน+ซ้อม+เล่นแบบที่แคนาดากำลังทำอยู่?

ตอบว่า ในแง่ธุรกิจนั้นแสนจะคุ้ม เพราะไม่เพียงช่วยฝึกปรือฝีมือนักกีฬารุ่นใหม่ในสาขานี้ แต่ยังเป็นเหมือนการรับประกันธุรกิจเกี่ยวกับอีสปอร์ตว่า พวกเขาจะไม่ขาดแคลนทรัพยากรบุคคล และความนิยมในสินค้าอีสปอร์ตจะมีอนาคตสดใส

แม้แต่สถาบันการศึกษาของแคนาดาก็ยังตอบรับความคึกคักของธุรกิจนี้ เช่น วิทยาลัยแลมบ์ตัน ที่ออนแทรีโอ เสนอหลักสูตรการบริหารและการจัดการธุรกิจอีสปอร์ต (Esports Entrepreneurship & Administration) นักศึกษาในโครงการจะได้รับความรู้เรื่องธุรกิจการกีฬา การตลาดการกีฬา การวิเคราะห์และจัดการการแข่งขันระดับทัวร์นาเม้นท์และระดับลีก ฯลฯ

แน่นอนว่า หัวใจหลักอยู่ที่การชี้ช่องรวย นั่นคือกลยุทธ์การทำเงินจากอีสปอร์ตควบคู่ไปกับพื้นฐานด้านไอทีของเกมออนไลน์ ซึ่งเป็นหลักสูตรสำหรับปีแรกเลยทีเดียว จะเห็นได้ว่า เรื่องเงินยังคงเป็นเรื่องใหญ่

แล้วโอกาสในการทำงานล่ะ?

วิทยาลัยแลมบ์ตันอธิบายไว้ในหลักสูตรว่า คนที่จะมาเรียนหลักสูตรต้องมีนิสัยชอบเรื่องธุรกิจเป็นทุนเดิม เมื่อจบหลักสูตรแล้วสามารถเป็นผู้จัดการ โค้ช ออร์แกไนเซอร์ หรือผู้จัดการแข่งขันอีสปอร์ตได้ นอกจากนี้ ยังสามารถนำทักษะไปใช้ในฐานะสื่อมวลชน ที่ติดตามรายงานข่าวอีสปอร์ตอย่างใกล้ชิด

หรือแม้แต่ผันตัวเองเป็นนักกีฬามืออาชีพเสียเอง ซึ่งมีรายได้ไม่น้อยเหมือนกัน

Photo by Anthony WALLACE / AFP

ข่าวเด่น

ข่าวที่น่าสนใจ