รายงานพิเศษต่างประเทศ
ชีวิตประจำวันของมนุษย์เราทุกวันนี้ต้องเผชิญกับมลภาวะรอบตัว ไม่ว่าจะเป็นฝุ่นควันบนท้องถนน หรือสารเคมีที่เราใช้กันในแต่ละวัน บางคนอาจจะคิดว่าแค่กลับเข้าบ้านก็สามารถหลีกเลี่ยงมลพิษต่างๆ ได้แล้ว ดังนั้น คุณภาพอากาศในบ้านจึงสำคัญไม่แพ้คุณภาพอากาศนอกบ้าน หลายบ้านจึงติดตั้งเครื่องกรองอากาศในบ้านเพิ่มเติม เพื่อดักจับฝุ่นและสารก่อภูมิแพ้ รวมทั้งปลูกต้นไม้ที่ช่วยดูดซับสารพิษ
อย่างไรก็ดี สารอันตรายบางชนิดก็มีขนาดเล็กจนสามารถเล็ดลอดจากเครื่องกรองอากาศเข้าสู่ร่างกายเราได้เช่นกัน เช่น สารคลอโรฟอร์ม หรือเบนซีน ที่มีแหล่งกำเนิดจากกิจกรรมในบ้าน อาทิ การอาบน้ำ การหุงต้มอาหาร การสูบบุหรี่ หรือแม้แต่ในเฟอร์นิเจอร์ โดยสารทั้งสองชนิดนี้สมาคมโรคมะเร็งสหรัฐและคณะกรรมการปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐระบุว่า มีส่วนเชื่อมโยงกับโรคมะเร็ง
ด้วยเหตุนี้ ทีมนักวิทยาศาสตร์จาก ม.วอชิงตันของสหรัฐ จึงตัดต่อยีนกระต่ายใส่เข้าไปในดีเอ็นเอของต้นพลูด่างที่นิยมปลูกตามบ้านเรือน ให้มีประสิทธิภาพในการดูดซับสารพิษ โดยเฉพาะทั้งสองชนิดข้างต้น โดยผลการวิจัยนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิทยาศาสตร์ Environmental Science & Technology
ยีนตัวสำคัญนี้เรียกว่า CYP2E1 ที่มีในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิดรวมทั้งมนุษย์ด้วย จะทำหน้าที่ผลิตเอนไซม์ที่เป็นโปรตีนที่มีประสิทธิภาพในการทำลายสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย ซึ่งเป็นสารเคมีสำคัญที่ผสมอยู่ในผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในครัวเรือน ไม่ว่าจะเป็นสารทำความสะอาด สีทาบ้าน น้ำยาซักแห้ง
แล้วในเมื่อมนุษย์มียีนตัวนี้อยู่แล้ว ทำไมยังต้องใช้เครื่องฟอกอากาศหรือปลูกต้นไม้ดูดสารพิษกันอีก สจวร์ต สแตรนด์ หนึ่งในทีมวิจัยเผยว่า ยีนชนิดนี้มีอยู่เฉพาะในตับของมนุษย์ และจะทำงานก็ต่อเมื่อเราดื่มแอลกอฮอล์เข้าไปเท่านั้น คือจะเผาผลาญและขจัดแอลกอฮอล์ออกจากร่างกาย ยีนนี้จึงไม่สามารถกรองมลพิษในอากาศให้เราได้ “เราจึงลงความเห็นกันว่าเราต้องย้ายปฏิกิริยานี้จากในร่างกายมาสู่พืช”
ทีมงานของ สแตรนด์ ทดสอบประสิทธิภาพการกำจัดสารพิษด้วยการนำพลูด่างทั้งที่ตัดต่อยีนและยังไม่ตัดต่อแยกกันใส่ขวดแก้วที่มีสารคลอโรฟอร์มและเบนซีนชนิดเข้มข้นแต่ละหลอด จากนั้นปล่อยทิ้งไว้ 11 วัน และตรวจวัดความเข้มข้นของสารทั้งสองชนิดเป็นระยะ โดยพบว่า ความเข้มข้นของคลอโรฟอร์มในหลอดพลูด่างที่ตัดต่อยีนลดลง 82% หลังผ่านไป 3 วัน และเกือบจะไม่พบแล้วในวันที่ 6 ส่วนสารเบนซีนลดลง 75% เมื่อผ่านไป 8 วัน ส่วนต้นพลูด่างที่ไม่มียีนจากกระต่ายดูดซับสารพิษได้เล็กน้อย
สแตรนด์ อธิบายต่อว่า ต้นพลูด่างจะทำลายสารพิษด้วยการเปลี่ยนคลอโรฟอร์มเป็นคลอไรด์ไอออนและคาร์บอนไดออกไซด์แล้วนำไปใช้ในการสังเคราะห์ด้วยแสง และเปลี่ยนสารเบนซีนเป็นฟีนอลที่ใช้ในการสร้างผนังเซลล์ของพืช พูดสั้นๆ ก็คือ มนุษย์ก็ได้ประโยชน์ พลูด่างก็ได้อาหาร
ตอนนี้ นักวิจัยกำลังพยายามนำโปรตีนอื่นมาใส่ในพืชเพื่อให้ช่วยกำจัดสารฟอร์มาลดีไฮด์ อีกหนึ่งสารก่อมะเร็งที่พบได้ในบุหรี่ ด้วยความหวังว่าจะช่วยลดอัตราการเกิดมะเร็ง โดยเฉพาะกับกลุ่มผู้ที่ต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ในบ้าน เช่น เด็กๆ หรือผู้สูงอายุ เมืองไทยจะใช้งานวิจัยนี้เป็นต้นแบบหาวิธีขจัดฝุ่น PM2.5 ก็น่าจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของคนกรุงได้บ้างไม่มากก็น้อย
ภาพ : ม.วอชิงตัน