เราจะแล่นผ่านวงโคจรดาวเสาร์ในเดือน ม.ค. 2019
เมื่อปี 2017 ต่อปี 2018 แล้วมีข่าวน่าสนใจอยู่ข่าวหนึ่ง ซึ่งหลังจากนั้นก่อให้เกิดกระแสติดตามเป็นระยะ คือการที่คณะดาราศาสตร์ในรัฐฮาวายแห่งสหรัฐ ได้ค้นพบ "ผู้มาเยือน" จากอวกาศอื่น เป็นดาวเคราะห์ลักษณะคล้ายสนามฟุุตบอล แต่โคจรในระบบสุริยะของโลกแค่ 3 คืน ก็เคลื่อนย้ายหายลับออกนอกระบบไป เหล่าผู้เชี่ยวชาญตื่นเต้นว่านี่คือสัญลักษณ์ของความหวังว่า ดาราศาสตร์โลกจะสามารถรับมือกับการพบเจอดาวที่มาเยือนเหล่านี้ได้ดีมากขึ้นในอนาคต
คาเรน มีช หัวหน้ากลุ่มค้นคว้าศึกษาจากสถาบันดาราศาสตร์แห่ง ม.ฮาวายของสหรัฐ เปิดเผยการค้นพบครั้งนี้ในวารสารด้านวิทยาศาสตร์เนเจอร์ (Nature) ว่า คณะนักดาราศาสตร์ของสถาบันค้นพบดาวเคราะห์ดังกล่าวผ่านกล้องโทรทรรศน์ Pan-STARRS 1 เมื่อวันที่ 19 ต.ค. 2017 ขณะที่มันโคจรเข้ามาในระบบสุริยะ
แรกเริ่ม ผู้เชี่ยวชาญส่องเห็นลำแสงจางๆ เคลื่อนที่อย่างรวดเร็ว ก็เข้าใจว่ามันคือดาวหางหรือดาวเคราะห์น้อยในระบบสุริยะ แต่หลังจากวิเคราะห์การโคจรและรูปทรงยาวของมัน ก็พบว่าอยู่ในกลุ่มดาวที่มาจากพื้นที่อวกาศระหว่างดวงดาว ไม่ได้มีถิ่นกำเนิดในสุริยจักรวาล
ผู้มาเยือนนี้ได้ชื่อว่า Oumuamua (อูมัวมัว) เป็นภาษาชนเผ่าฮาวาย ตามถิ่นฐานบนโลกที่พบมัน แปลว่า "ผู้ส่งสารจากอดีตอันไกลโพ้น" กายภาพของดาวเป็นทรงยาว คล้ายแท่งสี่เหลี่ยมผืนผ้า ที่ด้านยาวมีระยะทางเป็น 10 เท่าของด้านกว้าง ส่วนทีมผู้ค้นพบเปรียบเทียบมันเหมือนกับสนามฟุตบอล ดาวดวงนี้เรืองแสงสีแดงไหม้ และมีระดับความสว่างไม่เท่ากันทั้งดวง เนื่องจากความซับซ้อนของรูปทรง
แสงเรืองของดาวคาดว่าเกิดจากการรับรังสีจากดวงดาวต่างๆ ที่มีสีเหมือนกับสีเรืองจากวัตถุที่โคจรในแถบไคเปอร์ พื้นที่ระบบสุริยะรอบนอก ซึ่งเลยวงโคจรของดาวเนปจูนไปอีก การตรวจสอบลักษณะอูมัวมัวโดยคร่าวพบส่วนประกอบของเหล็กสูง และหมุนรอบแกนดาวตัวเองทุกๆ 7.3 ชม.
หลังจากนักดาราศาสตร์ค้นพบอูมัวมัว ก็ได้มีการแจ้งข่าวถึงสถาบันดาราศาสตร์ชั้นนำต่างๆ ช่วยกันตรวจสอบ ทว่า ดาวโคจรอยู่ในระบบสุริยะเพียงแค่ 3 คืน ก็เคลื่อนที่ออกนอกระบบไปด้วยความเร็ว 137,920.78 กม.ต่อ ชม. โดยนักดาราศาสตร์ใช้กล้องโทรทรรศน์ฮับเบิล และสปิตเซอร์ที่ปฏิบัติการในอวกาศ รวมถึงกล้องที่ตั้งอยู่ในฐานอวกาศบนโลกส่องติดตาม ซึ่งพบขณะนี้เคลื่อนที่แถบระหว่างดาวอังคารและจูปิเตอร์
นักดาราศาสตร์คาดการณ์ว่า อูมัวมัวโคจรมาจากทางของดาวฤกษ์เวกา ในกลุ่มดาวพิณ และใช้เวลาเดินทางมาหลายร้อยล้านปีแล้ว โดยไม่ถูกดูดเข้าไปสู่ระบบของดาวอื่นเลย
ส่วนการพยากรณ์จากวิถีโคจรเชื่อว่ามันจะผ่านวงโคจรดาวอังคาร และผ่านจูปิเตอร์ช่วงเดือน พ.ค. 2018 เลยวงโคจรดาวเสาร์ในเดือน ม.ค. 2019 และออกไปจากระบบสุริยะ มุ่งหน้าสู่กลุ่มดาวม้าบินต่อไป
การมาเยือนและการได้ใช้เวลาศึกษาอูมัวมัวสร้างความตื่นเต้นให้แวดวงดาราศาสตร์ของโลกมาก เพราะเชื่อว่าการศึกษาดาวนอกระบบสุริยะจะช่วยไขความลับของการก่อกำเนิดระบบสุริยะอื่น โดยแต่ละปีนักดาราศาสตร์จะพบดาวหรือวัตถุคล้ายอูมัวมัวประมาณ 1-10 ดวง แต่พวกมันมักจะเคลื่อนที่เร็วมากจนไม่สามารถสังเกตหรือศึกษาได้ทัน