วิเคราะห์สถานการณ์โลก
จีนสร้างเซอร์ไพรส์ด้วยการส่งยานขับเคลื่อน ฉางเอ๋อ-4 (Chang’e-4) ลงจอดยังพื้นผิวของดวงจันทร์ด้านไกล (Far side of the Moon) หรือพื้นผิวมุมมืดของดวงจันทร์ด้านที่หันออกจากโลก เป็นครั้งแรกที่มนุษยชาติสามารถส่งยานขับเคลื่อนไปลงจอดยังพื้นที่ดังกล่าวได้ ไม่เพียงแสดงถึงความก้าวหน้าด้านอวกาศของจีน และยังเป็นก้าวสำคัญของการสำรวจทางดาราศาสตร์ของชาวโลกทั้งมวล
ทั้งนี้ ฉางเอ๋อ-4 เดินทางไปพร้อมกับจรวดรุ่น Long March 3B ที่ฐานปล่อยซีชาง ในมณฑลเสฉวน ช่วงเช้าของวันที่ 8 ธ.ค. 2018 และเดินทางเข้าสู่วงโคจรระยะใกล้ของดวงจันทร์เมื่อวันที่ 30 ธ.ค. 2018 ก่อนจะลงจอดในวันที่ 3 ม.ค. 2019
ก่อนหน้านี้ เมื่อปี 2013 จีนส่งยานขับเคลื่อนลงจอดบนดวงจันทร์ในด้านที่หันเข้าหาโลก และนับเป็นประเทศที่ 3 ที่ทำเช่นนี้ได้ ตามรอยสหรัฐและสหภาพโซเวียต และจีนยังไม่ยอมหยุดแค่นั้น ยังก้าวไปไกลกว่าด้วยการส่งยานฉางเอ๋อ-4 ไปจอดในมุมมืดที่ยากที่จะคาดเดา โดยยานแตะพื้นในเวลา 10.26 น.ตามเวลากรุงปักกิ่ง และส่งสัญญาณภาพผ่านดาวเทียม “เชวี่ยเฉียว” มายังโลก ทำให้ชาวโลกได้เห็นภาพพื้นผิวของมุมมืดของดวงจันทร์ในที่สุด
สำหรับจุดที่ยานลงจอดคือ หลุมฟอน คาร์มัน (Von Kármán) มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 180 กม. อยู่ในพื้นที่แอ่งเซาท์โพล-เอตเคน (South Pole-Aitken Basin) อันเป็นหลุมแรงปะทะที่ใหญ่ที่สุดในระบบสุริยะของเรา ใกล้กับขั้วใต้ของดวงจันทร์ จุดที่ลงจอดมีความน่าสนใจตรงที่ตั้งชื่อตาม เธโอดอร์ ฟอน คาร์มันนักคณิตศาสตร์และวิศวกรรมอากาศยานชาวฮังกาเรียน-อเมริกัน ซึ่งเป็นอาจารย์ของ เฉวียนเสวียเซิน ผู้ริเริ่มโครงการอวกาศของจีน
สิ่งที่ชาวโลกจะได้ประโยชน์จากการลงจอดครั้งประวัติศาสตร์ของยานฉางเอ๋อ-4 คือ เราอาจทราบถึงต้นกำเนิดของดวงจันทร์ได้ชัดเจนขึ้น เพราะแอ่งเซาท์โพล-เอตเคน เป็นพื้นที่ที่เก่าแก่ที่สุดและลึกที่สุด แต่นักวิทยาศาสตร์บางรายยังเชื่อว่า พื้นที่ดังกล่าวอุดมไปด้วยแร่ธาตุ หากในอนาคตมหาอำนาจต่างๆ แข่งขันกันที่จะชิงทรัพยากรบนดวงจันทร์ จีนก็อาจได้เปรียบมากกว่าชาติอื่น
อีกหนึ่งความน่าสนใจของฉางเอ๋อ-4 คือมีการติดตั้งชีวมณฑล (Biosphere) ขนาดย่อมน้ำหนัก 3 กก. ซึ่งภายในมีเมล็ดพันธุ์มันฝรั่งและเมล็ดพันธุ์ต้นหนี่หนานเจี๋ย (Arabidopsis thaliana) รวมถึงไข่ของตัวไหม เพื่อทำการทดลองว่าพืชและแมลงจะสามารถเติบโตในชีวมณฑลเดียวกันได้หรือไม่ภายใต้แรงโน้มถ่วงอันเบาบางของดวงจันทร์ หากตัวไหมออกมาจากไข่โดยมีชีวิตก็จะผลิตคาร์บอนไดออกไซด์ ส่วนเมล็ดพันธุ์จะผลิตออกซิเจน ทั้งสองจะช่วยเกื้อกูลกัน