WORLD NEWS

โดย M2F Writer

02 มกราคม 2562 : 14:05 น.

วิเคราะห์สถานการณ์น่าจับตาในปีนี้

เมื่อปีที่แล้ว โลกเป็นประจักษ์พยานเหตุการณ์สำคัญ 2-3 เหตุการณ์ที่จะส่งผลกระทบต่อการเมืองและเศรษฐกิจโลกในระยะเวลาอันใกล้ นั่นคือการประชุมสุดยอดระหว่างผู้นำสหรัฐกับเกาหลีเหนือ (เรื่องนี้ยังเกี่ยวข้องกับการเชื่อมสัมพันธ์เกาหลีเหนือ-ใต้) และการเผชิญหน้าระหว่างจีนกับสหรัฐเรื่องสงครามการค้า (ซึ่งเรื่องนี้ยังพัวพันกับกรณีหัวเว่ย) ความเคลื่อนไหวทั้ง 2 เรื่องวนเวียนอยู่ในเอเชียตะวันออก และส่งผลกระทบกับไทยพอสมควร

ในปีนี้ โลกจะยังถูกดึงเข้าไปเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ในเอเชียตะวันออก และการห้ำหั่นระหว่าง 2 ยักษ์ใหญ่ คือจีนกับสหรัฐเช่นเดิม แต่ยังมีสถานการณ์อื่นๆ ที่ควรค่าแก่การจับตาเช่นกัน ซึ่งเราจะรวบรวมวาระต่างๆ ที่สำคัญมาไว้ ณ ที่นี้

1. การประชุมหยุดโลกรอบ 2 ในปีนี้ ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐ กับ คิมจองอึน ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ อาจจะโคจรมาพบกันอีกครั้งในการประชุมสุดยอด North Korea–United States Summit ครั้งที่ 2 เบื้องต้นคาดว่าจะเป็นช่วงต้นปีนี้ แต่สถานที่ยังรอการยืนยัน สำหรับการเตรียมการประชุมรอบ 2 มีมาตั้งแต่ช่วงเดือน ก.ย.-ต.ค.ปีที่แล้ว โดยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ คือ ไมค์ พอมพีโอ เดินทางไปเยือนเกาหลีเหนือเพื่อหารือเรื่องนี้ด้วยตัวเอง ทว่า สิ่งที่ต้องตระหนักคือ แม้เกาหลีเหนือจะประกาศระงับโครงการนิวเคลียร์ แต่ก็ยังเดินหน้าพัฒนาโครงการขีปนาวุธต่อไป และยังแสดงจุดยืนกังขาต่อสหรัฐอยู่บ่อยๆ เช่น สื่อทางการเคยเตือนว่า การยุติโครงการนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือจะเป็นจริงได้ก็ต่อเมื่อสหรัฐยุติโครงการนิวเคลียร์เช่นกัน ซึ่งการตั้งเงื่อนไขในลักษณะนี้เป็นไปไม่ได้แน่นอน ล่าสุด คือ วานนี้ คิมจองอึน ขู่ว่า เกาหลีเหนืออาจจะเปลี่ยนท่าที หากสหรัฐยังคงมาตรการคว่ำบาตรเกาหลีเหนืออยู่เช่นเดิม หากสถานการณ์เป็นนี้ โอกาสที่เราจะได้เห็นการประชุมหยุดโลกรอบ 2 ก็อาจจะมีตราส่วนอยู่ที่ 50 ต่อ 50

2. ลุยหรือเลิกสงครามการค้า?เรื่องนี้จะยังไม่สิ้นสุดง่ายๆ แม้ ทรัมป์ กับ สีจิ้นผิง จะบอกว่าได้ดีลกันในระดับหนึ่งระหว่างการประชุม G20 ที่อาร์เจนตินาปลายปีที่แล้วก็ตาม ผู้แทนการค้าสหรัฐยืนยันว่า หากจีนไม่ยอมปรับโครงสร้างด้านการค้าภายในวันที่ 1 มี.ค. สหรัฐจะใช้มาตรการตอบโต้ในทันที ด้วยการขึ้นภาษี 25% ต่อสินค้านำเข้าจากจีน ในวันที่ 2 มี.ค. มาตรการนี้จะคิดเป็นมูลค่า 200,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นมาตรการที่เกือบจะนำมาใช้เมื่อปีที่แล้ว แต่ชะลอไว้เพื่อให้จีน “ปรับปรุงตัว” เราต้องมาลุ้นกันว่าจีนจะยอมโอนอ่อนตามแรงกดดันหรือไม่ หรือจะท้าทายสหรัฐ อย่างไรก็ตาม เราเห็นการเตรียมตัวของจีนบ้างแล้ว ด้วยการมองหาตลาดประเทศที่สาม เพื่อปล่อยสินค้าจีนผ่านเข้าไป จากนั้นประเทศที่สามจะนำสินค้าจีนไปขายสหรัฐอีกทอด เพื่อหลีกเลี่ยงมาตรการตอบโต้ด้านภาษี ประเทศที่จีนหมายตาไว้คือเวียดนาม ที่จะถูกใช้เป็นช่องทางปล่อยสินค้า กระนั้น เมื่อเข้าปีใหม่ สีจิ้นผิงและทรัมป์ยกโทรศัพท์คุยกัน และได้ผลลัพธ์ค่อนไปในทางด้านบวก บางทีเราอาจเห็นความขัดแย้งนี้ผ่อนคลายลงก็เป็นได้

3. ญี่ปุ่นขยายกองทัพทุบสถิติปี 2018 เราได้เห็นการขยายตัวของกองทัพญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ญี่ปุ่นผ่านพระราชบัญญัติการทหารปี 2016 วึ่งเปิดทางให้ “กองกำลังป้องกันตนเอง” สามารถเดินทางไปปฏิบัติภารกิจในต่างแดนได้ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ “กองทัพ” ญี่ปุ่นสามารถกระทำการดังกล่าวได้ เพราะหลังจากสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 ในฐานะผู้แพ้ กิจการทางการทหารของญี่ปุ่นไม่มีสถานะเป็นกองทัพอย่างเป็นทางการ เป็นเพียงกองกำลังป้องกันตนเองที่รักษาอธิปไตยของชาติเท่านั้น แต่ด้วยแนวโน้มลัทธิชาตินิยมที่หนักหน่วงขึ้น และการอ้างภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือและจีน ทำให้รัฐบาลสบช่องที่จะยกระดับกองกำลังป้องกันตนเอง ให้มีสถานะเป็นกองทัพโดยพฤตินัยมากขึ้น และในปีนี้ ญี่ปุ่นจะประเดิม พ.ร.บ.ใหม่ด้วยการส่งกองกำลังไปร่วมปฏิบัติการ MFO ในตะวันออกกลาง และจะเพิ่มงบประมาณมหาศาลเพื่อพัฒนาอาวุธในปีนี้ เช่น อัดงบ 57 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อพัฒนาขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียง รวมแล้วในปีนี้ ญี่ปุ่นอัดฉีดงบกลาโหมทะลุหลัก 100 ล้านล้านเยนเป็นครั้งแรก แนวโนมเช่นนี้ คำว่า “สันติภาพนิยม” จึงไร้ความหมาย และเราควรจะตระหนักถึงภูมิรัฐศาสตร์ของเอเชียอันร้อนระอุของเอเชียเอาไว้ให้จงดี

4. ความปั่นป่วนที่ยุโรปวันที่ 29 มี.ค. อังกฤษจะสิ้นความเป็นสมาชิกภาพจากสหภาพยุโรปหรือที่เรียกว่า Brexit อย่างเป็นทางการ หลังการลงประชามติปี 2016 และผ่านการเจรจาและตกลงด้านต่างๆ อย่างดุเดือดทั้งระหว่างคนอังกฤษด้วยกันและกับสหภาพยุโรปมานานถึง 2 ปี ผ่านความพยายามที่จะสกัดกั้น Brexit ด้วยวิธีการต่างๆ แต่ไม่เป็นผล อย่างไรก็ตาม หากสหภาพยุโรปและอังกฤษตกลงที่จะยืดเวลาออกไปก็สามารถทำได้ แต่ต้องกระทำการก่อเวลา 23.00 น. ของวันที่ 29 มี.ค. ตามเงื่อนไขของอฝ่ายอังกฤษ หรือ 00.00 ของวันที่ 30 มี.ค. ตามเงื่อนไขของสหภาพยุโรป อีกหนึ่งสถานการณ์ในยุโรปที่จะต้องจับตาคือ สภาพเศรษฐกิจของอิตาลี ตอนนี้เผชิญปัญหางบประมาณขาดดุลอย่างรุนแรง ถึงขนาดที่ทำให้เศรษฐกิจปรับลดลงฮวบฮาบ และในปีนี้จะยิ่งสาหัส สหภาพยุโรปจะต้อง “อุ้ม” อิตาลีในด้านงบประมาณอย่างเร่งด่วน เพราะอิตาลีไม่ใช่กรีซ สเปน หรือโปรตุเกส ที่แม้จะมีปัญหางบประมาณขาดดุลสุดขีดและเศรษฐกิจที่ย่ำแย่เหมือนกัน แต่สิ่งที่อิตาลีต่างออกไป คือ เป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของยุโรป หากอิตาลีพังพินาศ ยุโรปก็จะพังไปด้วย

5. เศรษฐกิจโลกกับ Headwindsคำว่า Headwinds แปลว่า การเดินต้านกระแสลมที่หนักหน่วง แม้เศรษฐกิจโลกจะไม่ถึงกับทรุด แต่ก็ต้องฝ่าอุปสรรคหนักหน่วงแบบหืดขึ้นคอ โดยพิจารณาจากรายงานของ OECD ที่คาดว่าเศรษฐกิจในปีนี้จะชะลอตัว การค้าการลงทุนจะถดถอย เพราะการตั้งกำแพงภาษีของประเทศต่างๆ และหากประเทศมหาอำนาจยังไม่เลิกทะเลาะกัน ในปีต่อๆ ไปจะยิ่งแย่ลงไปอีก ตัวแปรบวกไม่กี่ตัว เช่น ภาคธุรกิจของสหรัฐที่กระเตื้องขึ้นเพราะมาตรการช่วยเหลือของ ทรัมป์ ก็อาจจะดีแค่ปีที่แล้ว เมื่อเจอกับ “ลมแรง” ของปีนี้ ก็อาจจะเอาไม่อยู่เหมือนกัน ในส่วนของธุรกิจหลักของคนรุ่นนี้ เช่น บริษัทสายโซเชียลเน็ตเวิร์ก จะเผชิญกับแรงกดดันให้ปรับตัวเองเข้ากับกฎระเบียบด้านความมั่นคงมากขึ้น หลังจากตกเป็นจำเลยในข้อหาเผยข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้ ทำให้ Facebook กับ Alphabet (กูเกิล) ต้องยอมอ่อนข้อให้รัฐบาล และการใช้แพลตฟอร์มแสดงความเห็นอย่างเสรีตามรัฐธรรมนูญจะไม่ใช่ไพ่แต้มต่อของษริษัทเหล่านี้อีกต่อไป

ข่าวเด่น

ข่าวที่น่าสนใจ