อีกก้าวหนึ่งของมนุษยชาติในอวกาศอันไพศาล
วานนี้เกือบ 03.00 น.ตามเวลาประเทศไทย ยานอวกาศอินไซต์ขององค์การนาซา ปฏิบัติการลงจอดบนพื้นผิวดาวอังคารได้สำเร็จอย่างงดงาม หลังใช้เวลาเดินทางราว 6 เดือน รวมระยะทางทั้งหมด 484.7 ล้าน กม. หลังลงจอดสำเร็จ อินไซต์ก็ส่งรูปพื้นผิวดาวอังคารรูปแรกที่เต็มไปด้วยฝุ่นจากการลงจอดกลับมาให้ชาวโลกชื่นชมทันที
ภารกิจหลักของยานอินไซต์คือการเจาะเข้าไปสำรวจแกนกลางของดาวอังคาร เพื่อศึกษาการก่อตัวของดาวเคราะห์สีแดงที่ยังคงเป็นปริศนา โดยมีเครื่องมือสำคัญ 3 ชิ้น คือ เครื่องตรวจวัดความสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวที่ฝรั่งเศสและอังกฤษร่วมกันพัฒนาซึ่งติดตั้งอยู่บนพื้นผิวดาว เพื่อตรวจหาชั้นหินและชนิดของหิน เครื่องวัดการถ่ายเทความร้อนจากทีมนักวิทยาศาสตร์เยอรมัน ที่เจาะลึกลงไปในพื้นผิวดาวลึก 5 ม. เพื่อวัดอุณหภูมิ และเสาอากาศตรวจจับการเคลื่อนไหวของดาวขณะโคจรรอบดวงอาทิตย์เพื่อศึกษาแกนกลางของดาว เนื่องจากนักวิทยาศาสตร์ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าแกนของดาวอังคารเป็นของเหลวหรือของแข็ง นอกจากนี้ ยังมีแผงโซลาร์เซลล์ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานของยานอยู่ทางด้านซ้ายขวา
ยานอินไซต์เดิมชื่อ เจมส์ (GEMS) ได้รับทุนในการพัฒนาและออกแบบ 3 ล้านเหรียญสหรัฐ และอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของห้องวิจัยพลังงานขับดัน (JPL) ขององค์การนาซา ซึ่งมีนักวิทยาศาสตร์หัวกะทิจากทั่วโลกมาช่วยพัฒนายาน บริษัท ล็อกฮีดมาร์ติน เริ่มลงมือสร้างขาจอดในปี 2014 แต่ระหว่างทดสอบนั้นระบบสุญญากาศของยานรั่วทำให้นาซาต้องเลื่อนกำหนดการปล่อยยานจากปี 2016 เป็นปี 2018