จริยธรรมยังไม่สำคัญเท่ากับอันตรายต่อมนุษยชาติ
นาทีนี้เรื่องที่สร้างความฮือฮาไปทั่วโลกคงหนีไม่พ้นข่าวที่ เหอเจี้ยนคุย นักวิทยาศาสตร์ชาวจีน ลุกขึ้นมาประกาศว่า ตัวเองประสบความสำเร็จในการตัดต่อดีเอ็นเอของทารกแฝดเพศหญิงที่เพิ่งลืมตาดูโลกเมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อน เพื่อให้เด็กทารกทั้งคู่มีความต้านทานเชื้อเอชไอวี โดยใช้เทคนิค CRISPR-Cas9 ทำลายยีน CCR5 ซึ่งเป็นประตูที่เชื้อเอชไอวีเข้าทำลายเซลล์
เหอเจี้ยนคุย
อย่างไรก็ดี การเคลื่อนไหวครั้งนี้กลับก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ และการตั้งคำถามด้านจริยธรรมเกี่ยวกับการตัดต่อพันธุกรรมและการออกแบบทารกจากคนในแวดวงวิทยาศาสตร์ หรือแม้กระทั่งนักวิทยาศาสตร์ที่เคยศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการตัดต่อพันธุกรรมมนุษย์
จีนสั่งตรวจสอบทันควัน
คณะกรรมการสาธารณสุขแห่งชาติจีน ออกแถลงการณ์ระบุว่า “กล่องอาถรรพ์แพนดอราถูกเปิดขึ้นแล้ว แต่เรายังมีโอกาสปิดมันก่อนจะสายเกินการณ์” และวิจารณ์การวิจัยของเหอว่า ทำให้นักวิทยาศาสตร์ร่วมชาติคนอื่นพลอยเสียหายไปด้วย พร้อมทั้งสั่งให้ตรวจสอบข้อกล่าวอ้างของเหออย่างจริงจัง นอกจากนี้ ม.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเซิ้นเจิน ที่เหอทำงานอยู่ ชี้แจงว่า งานวิจัยชิ้นนี้เกิดขึ้นนอกมหาวิทยาลัยและไม่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยแต่อย่างใด
เสียงคัดค้านด้านจริยธรรม
เกร็ก นีลี จาก ม.ซิดนีย์ ของออสเตรเลีย เผยว่า การตัดต่อยีน CCR5 อาจทำให้มนุษย์อ่อนแอลงและติดเชื้อโรคต่างๆ ได้ง่าย และเชื้อโรคธรรมดาอย่างเชื้อหวัดอาจจะวิวัฒนาการตัวเองให้รุนแรงมากขึ้น โดยเมื่อปีที่แล้วมีการศึกษาพบว่า การตัดต่อยีนด้วยเทคนิค CRISPR มีแนวโน้มทำให้ยีนเกิดการกลายพันธุ์ อันจะนำมาซึ่งการทำลายยีนของมนุษย์ทั้งระบบ
ระบบนิเวศเสียสมดุล
บทความในวารสารการวิจัยทางคลินิกและจริยธรรม ระบุว่า การที่โรคอย่างหนึ่งหายไป อาจทำให้โรคอย่างอื่นผุดขึ้นมาแทน นักวิทยาศาสตร์บางรายยังเตือนว่า หากยีนที่ถูกตัดต่อหลุดลอดไปปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม อาจมีความเสี่ยงอย่างอื่นตามมาอีก ดังนั้น ต้องใช้เทคโนโลยีดังกล่าวด้วยความระมัดระวังและต้องมีกฎเกณฑ์ชัดเจน
ระงับการตัดต่อยีน
จางเฟิง หนึ่งในนักวิทยาศาสตร์ผู้คิดค้นเทคโนโลยีตัดต่อยีน CRISPR เรียกร้องให้ทั่วโลกระงับการใช้เทคโนโลยีนี้ตัดต่อยีนของทารก เนื่องจากมีโทษมากกว่าคุณ อีกทั้งปัจจุบันยังมีวิธีป้องกันการแพร่เชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ทารกในครรภ์ที่มีประสิทธิภาพอยู่แล้ว จางยังกังวลว่าการวิจัยที่สร้างความฮือฮาไปทั่วโลกนี้แอบทำอย่างลับๆ
แง่มุมด้านจริยธรรมและกฎหมาย
บทความเรื่องแง่มุมด้านจริยธรรมและกฎหมายของการตัดต่อยีนจากวารสารโลหิตของสมาคมโลหิตวิทยาอเมริกัน ระบุว่า การตัดต่อยีนเป็นเครื่องมือต่อสู้กับโรคทางพันธุกรรม แต่ก็อย่างที่วาทะอันโด่งดังในเรื่องสไปเดอร์แมนว่าไว้ว่า “พลังที่ยิ่งใหญ่มาพร้อมความรับผิดชอบที่ใหญ่ยิ่ง” การนำเทคนิคการตัดต่อยีนมาใช้จึงต้องเป็นไปด้วยความรอบคอบ ซึ่งการกำจัดความเสี่ยงอยู่เหนือสิ่งอื่นใด และต้องควบคุมโดยกฎเกณฑ์ที่เหมาะสม
ผลกระทบที่ไม่อาจคาดเดา
นักวิทยาศาสตร์จีนกว่า 120 คน ออกแถลงการณ์ร่วมกันว่า การทดลองโดยตรงกับร่างกายมนุษย์เป็นเรื่องเหลวไหล ทันทีที่มนุษย์ถูกตัดต่อยีนก็ไม่มีใครคาดการณ์ได้ว่าจะเกิดผลกระทบอะไรบ้าง ยีนที่ถูกตัดต่อจะผสมปนเปกับยีนของมนุษย์ปกติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จนเกิดภาวะขาดความหลากหลายทางพันธุกรรม
อย่างไรก็ดี เมื่อเร็วๆ นี้ ม.ซุนยัตเซ็น ในเมืองกว่างโจวของจีน เผยผลสำรวจความคิดเห็นชาวจีนต่อการตัดต่อพันธุกรรม โดยพบว่า กว่า 60% ของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด 4,771 คน เห็นด้วยกับการตัดต่อยีนเพื่อรักษาโรค