รัฐบาลสหรัฐภายใต้การนำของ ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศใช้มาตรการคว่ำบาตรกับอิหร่านอีกครั้ง
สารพัดคำถามทำไมสหรัฐไม่ยอมรามือกับอิหร่าน
มาตรการคว่ำบาตรต่ออิหร่านมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 5 พ.ย. 2018 เป็นต้นไป โดยสหรัฐระบุว่า นี่จะเป็นการคว่ำบาตรขั้นสูงสุดและรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ ภายหลังจากทรัมป์ประกาศถอนตัวออกจากสนธิสัญญาข้อตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่านเมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา จากที่เคยลงนามร่วมกันเมื่อปี 2015 สมัยรัฐบาล บารัก โอบามา แม้ว่าประเทศพันธมิตรที่ร่วมในข้อตกลงอย่างอังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซีย เยอรมนี และจีน จะไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจครั้งนี้ก็ตาม
Q : ทำไมสหรัฐต้องคว่ำบาตรอิหร่าน?A : ก่อนสหรัฐจะถอนตัวออกจากข้อตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่าน ทรัมป์เคยประกาศว่า สนธิสัญญาฉบับดังกล่าวเป็นหนึ่งในข้อตกลงที่แย่ที่สุด สหรัฐอ้างว่าอิหร่านละเมิดข้อตกลงและมีการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์อยู่ตลอดเวลา มาตรการคว่ำบาตรครั้งนี้จึงเป็นการเพิ่มแรงกดดันให้อิหร่านกลับสู่การเจรจาเพื่อยุติโครงการนิวเคลียร์อย่างถาวร รวมถึงยกเลิกการสนับสนุนกลุ่มติดอาวุธในตะวันออกกลาง เช่น ในซีเรีย
Q : มาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐกระทบด้านใดบ้าง?A : สหรัฐเริ่มดำเนินการคว่ำบาตรอิหร่านมาตั้งแต่เดือน ส.ค.ที่ผ่านมา โดยปิดกั้นเศรษฐกิจ ทั้งการผลิตรถยนต์, การซื้อขายทองคำ, การซื้อธนบัตรเหรียญสหรัฐ, สินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ รวมถึงถ่านหิน เหล็ก อะลูมิเนียม และซอฟท์แวร์ที่ใช้ในกระบวนการทางอุตสาหกรรม แต่นับจากวันที่ 5 พ.ย.นี้ สหรัฐจะยกระดับมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจกับอิหร่านอย่างรุนแรงอีกครั้ง ซึ่งจะพุ่งเป้าไปยังระบบธุรกรรมและอุตสาหกรรมพลังงานอย่างการส่งออกน้ำมันเป็นหลัก ซึ่งสำคัญต่อเศรษฐกิจของอิหร่านมากที่สุด
Q : อิหร่านเคยถูกนานาชาติคว่ำบาตรมาก่อนหน้านี้หรือไม่?A : เมื่อปี 2010 สหประชาชาติ สหรัฐ สหภาพยุโรป และชาติอื่นๆ มีมติคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจอิหร่านมาแล้วครั้งหนึ่ง เพื่อขัดขวางโครงการพัฒนานิวเคลียร์ ซึ่งขณะนั้นก็ได้มุ่งเน้นไปที่การปิดกั้นการส่งออกน้ำมัน จนทำให้เศรษฐกิจของอิหร่านทรุดลงอย่างต่อเนื่อง เกิดปัญหาเงินเฟ้อและอัตราการว่างงาน กระทั่งปี 2015 อิหร่านบรรลุข้อตกลงนิวเคลียร์กับ 6 ชาติมหาอำนาจ สมาชิกถาวรคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ หรือ P5+1 คือสหรัฐ อังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซีย จีน บวกเยอรมนี และสหภาพยุโรป โดยมีข้อตกลงว่าอิหร่านจะต้องระงับการพัฒนานิวเคลียร์ แลกกับการยุติมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ
Q: ประเทศไหนบ้างที่ไม่เห็นด้วยกับสหรัฐ?A : ภาคีสมาชิกในข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านอย่าง อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี ไม่เห็นด้วยที่สหรัฐใช้มาตรการคว่ำบาตรอิหร่าน และยังประกาศยึดมั่นกับข้อตกลงเดิมเพื่อให้การเจรจาเดินหน้าต่อไปได้ เนื่องจากเป็นหนทางที่ดีที่สุดที่จะหยุดยั้งอิหร่านจากการพัฒนานิวเคลียร์ และเพื่อความมั่นคงของสหภาพยุโรป
Q : สหรัฐยอมผ่อนปรนประเทศใดได้ค้าขายกับอิหร่านต่อไปบ้าง?A : แม้สหรัฐจะเรียกร้องให้นานาประเทศระงับการซื้อน้ำมันดิบจากอิหร่าน แต่ก็ยอมอนุมัติให้ 8 ประเทศ สามารถซื้อขายน้ำมันกับอิหร่านต่อไปได้อีกระยะ ซึ่งคาดว่าในจำนวนดังกล่าวรวมถึง อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอาจรวมถึงจีนด้วย แต่จะค่อยๆ ลดปริมาณลง จนครบกรอบระยะเวลา 180 วัน หลังจากนั้นสหรัฐได้เรียกร้องให้ทั้ง 8 ประเทศหยุดนำเข้าน้ำมันจากอิหร่านโดยเร็วที่สุด