WORLD NEWS

โดย กองบรรณาธิการ M2F

23 ตุลาคม 2561 : 15:16 น.

คำถามก็คือเทคโนโลยีของบริษัทอวกาศเอกชนของจีนถึงขั้นที่จะสร้างดวงจันทร์เทียมหรือไม่ หรือเป็นเพียงการเรียกความสนใจเพื่อฉวยโอกาสประชาสัมพันธ์ชื่อเสียงในทางธุรกิจกันแน่?

ข่าวจากเมืองจีนที่น่าสนใจในช่วงสัปดาห์นี้ คือแผนการของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์อากาศยานและระบบไมโครอเล็กทริกส์แห่งเฉิงตู ที่จะสร้าง "ดวงจันทร์เทียม" ให้ได้ภายในปี 2020 - 2022 แล้วส่งขึ้นไปสู่อวกาศ จากนั้นใช้กระจกขนาดใหญ่สะท้อนแสงอาทิตย์ เพื่อสร้างแสงจันทร์จำลองขึ้น เพื่อทดแทนแสงสว่างจากไฟฟ้าในยามค่ำคืน โดยดวงจันทร์เทียมจะขึ้นไปโคจรเหนือพื้นโลก 500 กม. สามารถให้แสงสว่างได้ 50 ตร.กม. แบละประหยัดค่าไฟได้ 1,200 ล้านหยวนต่อปี และยังสามารถให้แสงสว่างในพื้นที่ไฟดับฉุกเฉิน เช่นพื้นที่ประสบภัย

ฟังดูแล้วน่าเหลือชื่อ แต่มีความเป็นไปได้ในทางทฤษฎี ส่วนจะคุ้มทุนจริงหรือไม่ต้องพิจารณากันต่อ ส่วนข้อเสียก็มี คือาจส่งผลต่อพฤติกรรมของสัตว์และพืชในยามค่ำคืน เพราะดวงจันทร์เทียมอาจทำให้กลไกชีวิตของพวกมันรวน

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มนุษย์พยายามสร้างดวงจันทร์เทียม รัสเซียก็เคยพยายามมาแล้วครั้งหนึ่ง โดยสร้างดาวเทียมชื่อ Znamya (ซนาเมีย) เมื่อทศวรรษที่ 90 เพื่อสะท้อนแสงอาทิตย์ลงมายังโลก ปรากฏว่าดาวเทียม Znamya 2 ทำสำเร็จ ในปี 1993 ส่องแสงขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 5 กม. เคลื่อนที่จากฝรั่งเศสไปยังรัสเซียด้วยความเร็ว 8 กม./วินาที อัตราแสงเท่ากับพระจันทร์วันเพ็ญ แต่ขึ้นไปได้ไม่นานก็ออกนอกวงโคจร แล้วตกลงมาเผาไหม้เป็นจุณ รัสเซียยีงไม่ยอมแพ้ ส่ง Znamya 2.5 ขึ้นไปอีกในปี 1999 คราวนี้ล้มเหลวยิ่งกว่าคราวแรก เพราะยังไม่ทันส่องแสงก็ติดขัด และออกนอกวงโคจร พินาศไปเหมือนรุ่นพี่ของมัน

คำถามก็คือเทคโนโลยีของบริษัทอวกาศเอกชนของจีนถึงขั้นที่จะสร้างดวงจันทร์เทียมหรือไม่ หรือเป็นเพียงการเรียกความสนใจเพื่อฉวยโอกาสประชาสัมพันธ์ชื่อเสียงในทางธุรกิจกันแน่?

ข่าวเด่น

ข่าวที่น่าสนใจ