WORLD NEWS

โดย กองบรรณาธิการ M2F

10 ตุลาคม 2561 : 21:27 น.

สถานการณ์เลยวิกฤตไปสู่ภาวะที่เลวร้ายเกินจินตนาการ

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF เตือนว่า ราคาสินค้าในเวเนซุเอลาจะแพงขึ้นถึง 10,000,000% ในปีหน้า จากในปีนี้ที่คาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ 1,370,000% จากเดิมที่เคยคาดการณ์ไว้ว่าจะอยู่ที่ 1,000,000% เมื่อเดือน ก.ค. และที่ 13,000% เดือน ม.ค. สาเหตุที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อแพงอย่างน่ากลัว เนื่องจากรัฐบาลพิมพ์ธบัตรเข้าสู่ระบบมากเกินไป และแก้ปัญหาอย่างไม่ถูกวิธีด้วยการเพิ่มอัตราค่าแรงขั้นต่ำอยู่เสมอ ซึ่งครั้งที่มากที่สุดครั้งหนึ่งคือเดือน ส.ค. โดยเพิ่มถึง 3000% ยิ่งทำให้สินค้าและบริการแพงขึ้น บวกกับปัญหาเศรษฐกิจก็ยังวิกฤตต่อไป โดยตัวเลขจีดีพีในปีนี้จะลดลงถึง 18% เนื่องจากขาดรายได้จากการขายน้ำมัน และความไร้เสถียรภาพทางการเมือง

(Recap) อะไรคือต้นเหตุอภิมหาเงินเฟ้อเวเนฯ?

ในเวลานี้ คงไม่มีข่าวเศรษฐกิจการเมืองข่าวไหนที่จะทำให้คนไทยสนใจไปมากกว่า ภาวะเศรษฐกิจล่มสลายของเวเนซุเอลาอีกแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังจากที่หนังสือพิมพ์ M2F ได้นำเสนอรายละเอียดแบบเจาะลึก เกี่ยวกับราคาสินค้าที่แพงอย่างมหาโหดในเวเนซุเอลา กับการติดตามวิกฤตผู้อพยพหนีภัยสินค้าแพงและขาดแคลนไปยังเพื่อนบ้านอย่างต่อเนื่อง ทำให้ความสนใจในสถานการณ์ของประเทศนี้เพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ

แต่หลายคนก็ยังสงสัยไม่หายว่าปัญหาที่เวเนซุเอลากำลังประสบคืออะไร มีที่มาจากอะไร และจะลงเอยอย่างไร?

สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศนี้ คำศัพท์ทางเศรษฐศาสตร์เรียกว่า ภาวะเงินเฟ้อยิ่งยวด (Hyperinflation) ซึ่งเราเลือกที่จะเรียกว่า "อภิมหาเงินเฟ้อ" เพราะให้ภาพที่ชัดเจนมากกว่า ภาวะนี้เกิดขึ้นเมื่อราคาที่แท้จริงของค่าเงินลดลงอย่างฮวบฮาบ ทำให้ราคาสินค้าแพงขึ้นมากมายมหาศาลเมื่อซื้อด้วยเงินสกุลดังกล่าว เช่น ราคาสินค้าในเวเนซุเอลาในปี 2012 เนื้อวัว 1 กก.อยู่ที่ 22 โบลิวาร์ แต่ในปี 2018 ไก่ 2.4 กก.ราคาถึง 14,600,000 โบลิวาร์ หรือเท่ากับ 1,948 บาท ภาวะที่ราคาพุ่งขึ้นจากเลข 2 หลักเป็นเลข 8 หลัก คือภาวะอภิมหาเงินเฟ้อนั่นเอง

อภิมหาเงินเฟ้อส่วนใหญ่เกิดจากรัฐบาลใช้นโยบายการคลังแบบขาดดุล ด้วยการพิมพ์ธนบัตรป้อนเข้าสู่ระบบเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แทนที่จะกู้ยืมเงินหรือเรียกเก็บภาษีเพิ่ม สาเหตุที่กระตุ้นเศรษฐกิจด้วยวิธีนี้ อาจเป็นเพราะภาคส่งออกล้มละลาย เช่น เวเนซุเอลาพึ่งพาการส่งออกน้ำมันอย่างหนัก แต่ในเวลานี้ราคาน้ำมันตกฮวบ ทำให้ขาดรายได้เข้าประเทศ

การพิมพ์เงินกระดาษเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้ปริมาณเงินในระบบมีมากเกินไปอย่างผิดธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากการปั๊มเงินเข้าระบบเกิดขึ้นโดยไม่ได้อิงกับทองคำหรือปริมาณทุนสำรองระหว่างประเทศ ทำให้เงินในระบบมีค่าไม่ตรงกับความเป็นจริง ราคาสินค้าจึงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว หากประเทศนั้นไม่สามารถพึ่งพาตัวเองในทางเกษตรได้ ราคาสินค้าจะยิ่งแพงและขาดแคลน เมื่อประเทศขาดรายได้จากการส่งออก จึงไม่มีเงินตราต่างประเทศสำหรับนำเข้า ยิ่งทำให้เกิดภาวะของแพงรุนแรง

รัฐบาลที่ตื่นตระหนกจะแก้ปัญหาด้วยการพิมพ์เงินกระดาษเพิ่มเติมและเพิ่มค่าแรง เพื่อให้ประชาชนมีเงินใช้จ่ายยังชีพได้ แต่การทำแบบนี้จะทำให้ราคาสินค้ายิ่งแพง ดังจะเห็นได้ว่า รัฐบาลเวเนซุเอลาใช้วิธีขึ้นค่าแรงขั้นต่ำไปเรื่อยๆ (ซึ่งรวมถึงการอัดฉีดเงินเข้าระบบไปพร้อมๆ กัน) จนทำให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว ในปี 2014 เมื่อวิกฤตเริ่มทวีความรุนแรงขึ้น เงินเฟ้ออยู่ที่ 69% ซึ่งเท่านี้ก็ถือว่าสูงที่สุดในโลกอยู่แล้ว แต่มันยังไม่จบแค่นั้น ในปี 2015 ขึ้นมาที่ 181% ต่อมาปี 2016 อยู่ที่ 800% และอยู่่ที่ 4,000% ในปี 2017 จนกระทั่งพุ่งพรวดขึ้นมาที่ 82,766% ล่าสุดในปีนี้ ทั้งยังมีความเป็นไปได้ที่จะทะลุหลัก 1,000,000% ในปีนี้อีกด้วย หากยังแก้ปัญหาด้วยวิธีเดิม

การแก้ปัญหาอภิมหาเงินเฟ้อไม่ใช่เรื่องง่ายเหมือนกับเงินเฟ้อทั่วๆ ไป เพราะปัญหานี้คล้ายกับงูกินหาง หรือวงจรอุบาทว์ เมื่อใช้มาตรการหนึ่งแทนที่จะแก้ไขกลับกลายเป็นราดน้ำมันเข้ากองเพลิง เช่น เมื่อของแพง รัฐขึ้นค่าแรง พิมพ์ธนบัตรเพิ่ม ก็ยิ่งทำให้ของยิ่งแพง เป็นต้น และการลดค่าแรงกับควบคุมราคาสินค้าก็ยังไม่ได้ผล เพราจะยิ่งทำให้ผู้ขายไม่ยอมขายสินค้าในราคาต่ำ

เนื่องจากอภิมหาเงินเฟ้อเกิดจากค่าเงินแห่งชาติที่อ่อนค่าลงหนักหน่วง วิธีการแก้ไขที่ได้ผล คือการหันไปใช้เงินตราต่างประเทศที่มีความน่าเชื่อถือ เช่น เงินเหรียญสหรัฐ เพราะแม้ราคาสินค้าในสกุลเงินแห่งชาติจะแพงมาก แต่ราคาแท้จริงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักของโลกจะยังมีค่าไม่สูงนัก ทำให้ชาวเวเนซุเอลาหันมาถือเงินเหรียญสหรัฐ และใช้เป็นสกุลเงินซื้อขายในตลาดมืดแทนสกุลเงินโบลิวาร์ที่มีค่าน้อยยิ่งกว่ากระดาษชำระ เช่น ราคาไข่ไก่ 12 ฟอง สูงถึง 303,427 โบลิวาร์ แต่ราคาเงินดอลลาร์เพียง 1.22 เหรียญเท่านั้น

หากใช้สกุลเงินต่างชาติเข้ามาช่วยหนุน ระบบจะมีเสถียรภาพมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ปัญหาของเวเนซุเอลาคือรัฐบาลมีแนวคิดสังคมนิยม ต่อต้านระบบทุนนิยม มองสหรัฐเป็นศัตรู และระบบตลาดเสรีเป็นตัวแทนความชั่วร้ายของสหรัฐ อีกทั้งความโกลาหลของระบบเศรษฐกิจในเวลานี้ ก็เกิดจากความพยายามที่จะสลัดตัวจากเงินเหรียญสหรัฐ ทำให้รัฐบาลเวเนซุเอลารู้สึกตะขิดตะขวงใจที่จะใช้สกุลเงินของชาติที่เป็นอริกัน แล้วคิดที่จะให้เงินหยวนของจีนมาเป็นตัวช่วย ซึ่งทำให้ความหวังที่จะหลุดจากอภิมหาเงินเฟ้อด้วยวิธีนี้ พลอยเรือนรางไปด้วย

ข่าวเด่น

ข่าวที่น่าสนใจ