หมอต้านบุหรี่ีชี้เหมาะสมแล้ว จะขึ้นราคาบุหรี่อีก 2 บาท เพื่อหาเงินอุ้มบัตรทอง ยันช่วยลดจำนวนคนสูบ
เมื่อวันที่ 2 ต.ค. นพ.ประกิต วาทีสาทกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวถึงกรณีมีการยกร่างพ.ร.บ.จัดเก็บเงินสมทบเพื่อสนับสนุนการจัดบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการภาครัฐ ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ...ที่จะขึ้นภาษีบุหรี่ซองละ 2 บาท ว่า ก็เป็นเรื่องที่ดี เพราะการขึ้นภาษีเป็นมาตรการที่ช่วยลดจำนวนนักสูบได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในกลุ่มคนมีรายได้น้อย
จากข้อมูลหากขึ้นภาษีบุหรี่ขึ้น 10 เปอร์เซ็นต์จะทำให้นักสูบในวัยผู้ใหญ่ลดจำนวนมวนที่สูบลงได้ 4 เปอร์เซ็นต์ เด็กลดจำนวนมวนที่สูบลง 8-10 เปอร์เซ็นต์ ส่วนกรณีที่มีผู้คัดค้านไม่ให้ขึ้นภาษีโดยระบุว่าจะกระทบกับเศรษฐกิจ และเป็นการซ้ำเติมผู้บริโภคและเกษตรกรชาวไร่ยาสูบซึ่งเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ การจะลดจำนวนนักสูบลงก็ต้องมีผลกระทบ ซึ่งรัฐบาลต้องชั่งน้ำหนัก ว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้นกับเศรษฐกิจยังมีทางเลือกอื่นๆ อีกหรือไม่ แล้วกรณีที่เป็นผลกระทบกับสุขภาพนั้นเสียแล้วซ่อมได้ไหม ซ่อมแล้วเหมือนเดิมหรือไม่ และถ้าบุหรี่มีราคาแพงขึ้นคนไม่สูบฐานะของคนนั้นก็ดีขึ้น ไม่ต้องเสี่ยงกับโรคที่เกิดจากบุหรี่ ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกประเมินว่าประเทศไทยมีผู้ป่วยจากบุหรี่ที่ยังมีชีวิตอยู่ประมาณ 1 ล้านคน เสียชีวิตปีละประมาณ 5 หมื่นคน แต่ก่อนจะเสียชีวิตต้องนอนป่วยหนักอยู่กว่า 3 ปี เป็นภาระทั้งของผู้ป่วย ระบบสุขภาพและฐานะของครอบครัวเขาเอง
เมื่อถามว่าการขึ้นภาษีครั้งนี้อยู่ในระยะเวลาที่เหมาะสมหรือไม่เพราะเพิ่งมีการขึ้นภาษีครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2560 เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า มีความเหมาะสมแล้ว เพราะในหลายประเทศเขียนไว้ในกฎหมายเลยว่าต้องมีการเพิ่มภาษีบุหรี่อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และอย่างที่ออสเตรเลียมีการขึ้นภาษีบุหรี่ 6 เดือนครั้ง ส่วนของประเทศไทยตั้งแต่ปี 2536 ถึงปัจจุบันมีการขึ้นภาษีไป 12 ครั้ง เฉลี่ยขึ้นภาษี 2 ปีต่อ 1 ครั้ง แต่ในความเป็นจริงบางครั้งเว้นไป 3,4 ปี ก็ค่อยมีการขึ้นภาษีก็มี ดังนั้นคิดว่าการขึ้นภาษีบุหรี่ครั้งนี้ก็เป็นเรื่องที่สมควรที่จะทำ