สำรวจความพยายามของจีนที่ทำให้ประเทศกลายสภาพจากนรกฝุ่นควันกลายเป็นวันฟ้าใส
1. เมื่อไม่กี่ปีก่อนมลพิษทางอากาศเป็นปัญหาหนักหน่วงมากในจีนและเป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพของประชาชนจีน ภาพของประเทศจีนในช่วงทศวรรษที่ 2010 คือภาพของเมืองที่ถูกปกคลุมไปด้วยฝุ่นควันจนกลางวันดูเหมือนตอนกลางคืน โดยเฉพาะกรุงปักกิ่งซึ่งเจอทั้ง PM2.5 กับฝุ่นทรายจากทะเลทรายโกบีในแต่ละปี จนปักกิ่งแทบมองไม่เห็นฟ้าสีฟ้า
2. จากการวัดโดยรัฐบาลเทศบาลกรุงปักกิ่งในเดือนมกราคม 2013 พบว่าระดับ PM2.5 (อนุภาคขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมโครเมตร) สูงสุดที่บันทึกไว้อยู่ที่เกือบ 1,000 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ส่งผลกระทบที่น่ากลัวที่สุดต่อสุขภาพของประชาชนในปักกิ่งตลอดทั้งปีโดยเฉพาะในฤดูหนาว และยังมีการสังเกตพบร่องรอยหมอกควันจากจีนแผ่นดินใหญ่ลอยไปไกลถึงรัฐแคลิฟอร์เนียอีกด้วย
3. ในความพยายามที่จะลดมลพิษทางอากาศ รัฐบาลจีนได้ตัดสินใจบังคับใช้กฎระเบียบที่เข้มงวดขึ้น หลังจากมลพิษทางอากาศที่สูงเป็นประวัติการณ์ในภาคเหนือของจีนในปี 2012 และ 2013 สภาแห่งรัฐได้ออกแผนปฏิบัติการเพื่อการป้องกันและควบคุมมลพิษทางอากาศในเดือนกันยายน 2013 แผนนี้มีเป้าหมายเพื่อลด PM2.5 ได้มากกว่า 10% จากปี 2012 ถึงปี 2017
4. การตอบสนองของรัฐบาลที่โดดเด่นที่สุดคือในปักกิ่งโดยมีเป้าหมายที่จะลด PM2.5 ลง 25% ตั้งแต่ปี 2012 ถึง 2017 เนื่องจากเมืองหลวงของจีนเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากจากมลพิษทางอากาศในระดับสูงโดยตัวการหลักๆ คือการใช้พลังงานจากถ่านหิน
5. ในเดือนกันยายน 2013 รัฐบาลจีนจึงได้เผยแพร่แผนการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศบนเว็บไซต์อย่างเป็นทางการ เป้าหมายหลักคือการลดการใช้ถ่านหินโดยการปิดโรงงานที่ก่อมลพิษและเปลี่ยนไปใช้แหล่งพลังงานอื่นๆ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
6. นโยบายเหล่านี้มีผลบังคับใช้และในปี 2015 ค่าเฉลี่ย PM2.5 ใน 74 เมืองสำคัญลดลง 23.6% ในปี 2013 และแม้จะมีการลดการใช้ถ่านหินและอุตสาหกรรมที่ก่อมลพิษ แต่จีนยังคงรักษาอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพจาก 7.7% ในปี 2013 เป็น 6.9% ในปี 2015 ซึ่งเป็นตัวอย่างของการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมโดยกระทบต่อเศรษฐกิจน้อยที่สุด
7. ยุทธศาสตร์ของจีนมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาแหล่งพลังงานอื่นๆ เช่นนิวเคลียร์ พลังน้ำ และก๊าซธรรมชาติอัด และปิดการใช้งานภาคอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานล้าสมัย เช่น เหล็ก เหล็กกล้า อลูมิเนียมและซีเมนต์ และเพิ่มกำลังการผลิตนิวเคลียร์และพลังงานเชื้อเพลิงอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ฟอสซิล นอกจากนี้ยังรวมถึงความตั้งใจที่จะหยุดการอนุมัติโรงไฟฟ้าพลังความร้อนใหม่และเพื่อลดการใช้ถ่านหินในพื้นที่อุตสาหกรรม
8. ในช่วงไม่กี่ปีจีนก็มีความก้าวหน้าอย่างมากในเรื่องมลพิษทางอากาศ ตัวอย่างเช่นความเข้มข้นของ PM2.5 โดยเฉลี่ยลดลง 33% จากปี 2013 ถึง 2017 ใน 74 เมือง ในกลุ่มแรกของ 74 เมืองที่ดำเนินการตามมาตรฐานคุณภาพอากาศด้านสิ่งแวดล้อมปี 2012 ความเข้มข้นเฉลี่ยของ PM2.5 และซัลเฟอร์ไดออกไซด์ลดลง 42% และ 68% ตามลำดับระหว่างปี 2013 ถึง 2018
9. ย้อนกลับไปในปี 2016 มีจังหวัดเพียง 84 แห่งจาก 338 จังหวัดที่มีคุณภาพอากาศถึงเกณฑ์แห่งชาติ อย่างไรก็ตามภายในปี 2018 ทั้งหมด 338 จังหวัดกลับมีคุณภาพอากาศที่ดีคิดเป็นสัดส่วนถึง 79% ของจำนวนวันในแต่ละปีหรือสภาพอากาศดีมากเกิน 3 ใน 4 ของปีแล้วจากที่เคยแย่เกืบทั้งปี
10. มลพิษโดยรวมในจีนลดลงอีก 10% ระหว่างปี 2017 ถึง 2018 การศึกษาอีกรายงานหนึ่งแสดงให้เห็นว่าจีนลด PM2.5 ลง 47% ระหว่างปี 2005 ถึง 2015
11. ในเดือนสิงหาคม 2019 ที่กรุงปักกิ่งมีระดับ PM2.5 ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์โดยต่ำสุดที่ 23 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ปักกิ่งพยายายามผลักดันตัวเองให้พ้นจากการเป็นเมืองที่มีมลพิษมากที่สุด 200 อันดับแรกของโลกอีกด้วย จากเดิมที่เป็นหนึ่งในเมืองหลวงที่มีมลพิษแย่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
12. ความสำเร็จของจีนประเมินได้จากการใช้มาตรการเหล่านี้อย่างจริงจัง คือ (1) ครัวเรือนและธุรกิจหลายล้านแห่งเปลี่ยนจากการใช้ถ่านหินมาเป็นก๊าซธรรมชาติ (2) การใช้มาตรการด้านการปลูกป่า (3) การที่จีนเป็นอันดับหนึ่งของโลกในการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อลดการใช้พลังงานฟอสซิล
13. รัฐบาลจีนยังใช้จ่ายเงินเพื่อต่อสู้กับมลพิษอย่างมากมายมหาศาล เช่นในปี 2013 สถาบันวางแผนสิ่งแวดล้อมของจีนให้คำมั่นว่าจะอัดฉีดเงินเพื่อต่อสู้กับมลพิษทางอากาศในเมืองเป็นเงิน 277,0000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งถือเป็นเม็ดเงินที่สูงมาก เฉพาะการหันมาใช้ก๊าซธรรมชาติทดแทนการใช้ถ่านหินต้องใช้เงินอุดหนุนถึง 32,000 – 52,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
. AFP PHOTO / GREG BAKER