THAI NEWS

โดย กองบรรณาธิการ M2F

18 พฤศจิกายน 2563 : 14:50 น.

ศบค.มีมติต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินอีก 45 วัน ตั้งแต่ 1 ธ.ค. 63 - 15 ม.ค. 64 ตีกลับการกักตัวเหลือ 10 วัน ไฟเขียวจังหวัดชายแดนตั้ง OQ กลุ่มแรงงานต่างด้าว

เมื่อวันที่ 18 พ.ย. นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19 : ศบค.) แถลงผลการประชุมศบค.ชุดใหญ่ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นประธานว่า ที่ประชุมมีมติให้ขยายการประกาศใช้พระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินทุกพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อป้องกัน ควบคุมดูแลการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 30 พ.ย.นี้ออกไปอีก 45 วันจากปกติที่จะขยายเวลาการประกาศใช้ครั้งละ 30 วัน

“เหตุผลที่ต้องขยายการประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คร่อมช่วงปีใหม่ คือวันที่ 1 ธค.63 ถึง 15 มค. 64 เนื่องจากต้องการให้เกิดความต่อเนื่องในการดูแลประชาชนในช่วงเทศกาลสำคัญ เพราะในช่วงนี้จะมีการแข่งขันแบดมินตันโลก จะมีคนเดินทางมาจากต่างประเทศ ซึ่งจะต้องมีการดูแลทั้งนักกีฬา และแขกต่างประเทศ" นพ.ทวีศิลป์กล่าว และว่า ส่วนการลดเวลากักตัว ให้เหลือ 10 วันในรูปแบบ Area Quarantine ที่ประชุมได้พูดคุยกันอย่างกว้างขวาง และให้กลับไปศึกษารายละเอียดข้อมูลให้รอบคอบอีกครั้ง ก่อนนำกลับเข้าสู่การพิจารณาในของศบค.ในอีก 2-4 สัปดาห์

นพ.ทวีศิลป์ ยังกล่าวถึงกรณีการผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวบริเวณชายแดนเข้ารับการกักตัวใน Organizational Quarantine ว่า เนื่องจากแรงงานต่างด้าวที่ทำงานในประเทศไทยที่บริเวณชายแดน เป็นผู้มีความเสี่ยงสูงในการติดโควิด-19 เพื่อเป็นการป้องกันประชาชนคนไทยในพื้นที่ คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด จึงเห็นสมควรให้มีการกักกันแรงงานต่างด้าวที่มีความเสี่ยงสูงใน Local Quarantine (LQ) หรือ Organization Quarantine (OQ) แต่ปัจจุบัน แรงงานต่างด้าวบริเวณชายแดนไม่สามารถเข้ารับการกักตัวใน LQ ได้ เพราะไม่มีระเบียบทางราชการกำหนดให้สามารถดำเนินการได้ อีกทั้งแรงงานต่างด้าวไม่สามารถเข้ารับการกักตัวใน Alternative Local Quarantine (ALQ) ได้ เนื่องจากมีข้อจำกัดเรื่องค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ

ดังนั้น ที่ประชุม ศบค.จึงอนุญาตให้แรงงานต่างด้าวที่ทำงานในประเทศไทย สามารถเข้ารับการกักกันใน OQ ที่ส่วนราชการกำหนดหรือจัดตั้งขึ้นได้ ซึ่งจะช่วยป้องกันประชาชนคนไทยในพื้นที่เสี่ยง โดยเฉพาะพื้นที่ตามแนวชายแดนให้ปลอดภัยจากการติดเชื้อโควิดในกรณีที่พบแรงงานต่างด้าวในพื้นที่ติดเชื้อโควิด-19

"มีการพูดกันว่าในขอบชายแดน แทนที่จะดูแค่คนที่เดินทางไป-กลับ แต่ถ้าเป็นแรงงานต่างด้าวที่มีประวัติทำงานกับเรา แล้วมีการติดเชื้อขึ้น แทนที่จะปล่อยให้เขากลับบ้าน แล้วนำเชื้อไปติดที่บ้าน จึงไม่ควรเลย แต่ควรนำเขาเข้ามาสู่ Organization Quarantine ดีกว่า ซึ่ง ศบค.จึงอนุมัติให้ในพื้นที่ชายแดน สามารถใช้มตินี้นำไปสู่การใช้งบประมาณที่ทำให้มี OQ สำหรับแรงงานต่างด้าวได้ ซึ่งเป็นเรื่องดี ที่ทำให้ผู้ประกอบการสามารถดูแลแรงงานของเขาได้" โฆษก ศบค.กล่าว

ข่าวเด่น

ข่าวที่น่าสนใจ