เสนอพักหนี้ขสมก.1.3 แสนล้านเป็นเวลา 7 ปีเพื่อให้ฟื้นฟูกิจการกลับมามีรายได้ในระยะยาว จึงจำเป็นต้องหยุดเลือดที่ไหล เตรียมเสนอครม.พิจารณาต.ค.นี้
เมื่อวันที่ 14 ก.ย. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพิจารณารายละเอียดแผนฟื้นฟูกิจการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ที่ทำเนียบรัฐบาลว่า ที่ประชุมพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการขสมก. โดยกรมการขนส่งทางบกที่มีนายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธานได้ทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นฟู ขสมก.ได้แก่ กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ สำนักบริหารหนี้สาธารณะได้นำแผนการฟื้นฟู ขสมก.ที่ปรับปรุงแล้วมาเสนอให้ตนพิจารณา โดยที่ประชุมฯได้เห็นชอบแผนดังกล่าว และให้นำเสนอบอร์ด ขสมก.และเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในเดือน ต.ค.นี้
ทั้งนี้ สาระสำคัญคือกระทรวงการคลังในฐานะเจ้าหนี้ของ ขสมก. จะพักหนี้สะสมของ ขสมก.ที่มีอยู่ประมาณ 1.3 แสนล้านบาท โดยมีเงื่อนไขว่า ขสมก.จะต้องสามารถฟื้นฟูกิจการและกลับมาทำกำไรได้ภายใน 7 ปี โดยการดำเนินการในรูปแบบนี้เนื่องจาก ขสมก.ถือเป็นรัฐวิสาหกิจ 100% ไม่ได้มีเอกชนเข้ามาถือหุ้น ดังนั้นจึงเป็นภาระของรัฐบาลในการเข้ามาดูแลแก้ปัญหาตรงนี้ และเจ้าหนี้ของ ขสมก.ก็คือกระทรวงการคลัง เพราะกระทรวงการคลังเป็นผู้ที่ค้ำประกันหนี้ให้กับ ขสมก.ทั้ง 100%
นายอนุทิน กล่าวว่า โดยแผนนี้กำหนดว่าจะให้กระทรวงการคลังพักหนี้ให้กับ ขสมก.เป็นระยะเวลา 7 ปี เพื่อให้ดำเนินการฟื้นฟูกิจการให้สำเร็จ แล้วกลับมาจ่ายหนี้ได้ แผนนี้จะทำให้ ขสมก.สามารถกลับมาทำกำไรได้ในระยะยาว นอกจากนี้จะยังสามารถใช้เงื่อนไขในแผนนี้ในการประเมินประสิทธิภาพในการดำเนินงานของ ขสมก.ได้ เพราะที่ผ่านมา ขสมก.อ้างว่าการมีภาระหนี้มากทำให้องค์กรไม่สามารถดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพได้ ซึ่งจะมีการประเมินผลการทำงานและวัดผลการทำงานของผู้บริหาร ขสมก.เป็นระยะหลังจากที่ ครม.อนุมัติแผนฟื้นฟูและการพักหนี้ให้แล้ว หากไม่มีภาระหนี้แล้วไม่สามารถทำกำไรได้ก็อาจจะต้องพิจารณาแปรรูป ขสมก.ออกจากการเป็นรัฐวิสาหกิจ
“การพักหนี้ให้กับ ขสมก.ผมถือว่าเป็นการรีเซ็ตมากกว่า เป็นการหยุดเลือดที่ไหล เพื่อที่จะทำให้ ขสมก.หายใจได้เพราะหยุดดอกเบี้ยที่เดินอยู่ แล้วหนี้ที่มีอยู่ก็หาทางในการที่จัดการ เช่น การทยอยผ่อน ยกหนี้ไปทำให้เป็นระยะยาวอะไรก็แล้วแต่อยู่ในแผนที่มีการทำมาเสนอ” นายอนุทินกล่าว