THAI NEWS

โดย กองบรรณาธิการ M2F

23 กันยายน 2562 : 11:20 น.

ประธานกสม. เผยการไม่แต่งตั้ง กสม.ชั่วคราวสร้างความเสียหายแก่ประเทศชาติ ชี้กระทบเรื่องขอคืนสถานะ A จากเครือข่ายสถาบันสิทธิมนุษยชนสากล อีกทั้งมีเรื่องค้างรอการพิจารณาจำนวนมาก

เมื่อวันที่ 23 ก.ย.นายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เปิดเผยว่า วันนี้ตนได้มีหนังสือถึงเลขาธิการประธานศาลฎีกา เพื่อให้นำความกราบเรียนประธานศาลฎีกาทราบว่า การที่ประธานศาลฎีกาไม่แต่งตั้งบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามเช่นเดียวกับ กสม. เพื่อทำหน้าที่เป็น กสม.เป็นการชั่วคราว ตามหน้าที่และอำนาจในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560(พรป. กสม.) มาตรา 60 วรรคสาม ประกอบมาตรา 22 ทำให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศชาติ ประชาชน สถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของไทย และสำนักงาน กสม.

นายวัส กล่าวว่า เป็นที่ทราบกันดีว่าประธานศาลฎีกาในฐานะประธานกรรมการสรรหา กสม. ได้ดำเนินการสรรหาบุคคลมาเป็น กสม.โดยออกประกาศคณะกรรมการสรรหา กสม. รับสมัครหรือการเสนอชื่อบุคคลเพื่อเข้ารับการสรรหาเป็นผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็น กสม. มาแล้ว 4 ฉบับ ตั้งแต่เดือน มิ.ย.2561 จนถึงบัดนี้เป็นเวลา 1 ปีเศษ และมีผู้ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามร่วมร้อยคน ขณะเดียวกัน เพื่อแก้ไขปัญหาที่เคยเกิดขึ้นในอดีต พรป. กสม. จึงมอบอำนาจให้ประธานศาลฎีกาและประธานศาลปกครองสูงสุดร่วมกันแต่งตั้ง กสม. เป็นการชั่วคราว ซึ่งหลังจากมี กสม. ลาออก 2 คนเมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2562 ทำให้เหลือผู้ปฏิบัติหน้าที่ กสม. เพียง 3 คน ไม่ถึงกึ่งหนึ่ง (4 คน) ตนจึงได้มีหนังสือด่วนที่สุดกราบเรียนให้ประธานศาลฎีกาดำเนินการแต่งตั้ง รวม 7 ฉบับ คือ ฉบับวันที่ 31 ก.ค. วันที่ 1 , 13 , 15 , 29 ส.ค. วันที่ 2 และ 12 ก.ย.2562 เพื่อให้ กสม. ซึ่งอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปสามารถปฏิบัติหน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายบัญญัติให้ปฏิบัติหน้าที่เพื่อความผาสุกของประชาชนชาวไทยและผลประโยชน์ส่วนรวมของชาติ (รัฐธรรมนูญ มาตรา 247 วรรคสาม และ พรป. กสม. มาตรา 25)

“ กสม. มีหน้าที่รับผิดชอบเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน (พรป. กสม. มาตรา 28) แต่จนกระทั่งปัจจุบันเป็นเวลามากกว่า 7 สัปดาห์ ที่ กสม. ไม่สามารถเปิดการประชุมเพื่อแก้ไขเยียวยาความทุกข์ร้อนของประชาชน อาทิ การออกรายงานผลการตรวจสอบการละมิดสิทธิมนุษยชนกว่า 125 เรื่อง การพิจารณารับเรื่องร้องเรียนกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนไว้เป็นคำร้องเพื่อตรวจสอบกว่า 12 เรื่อง และการมอบหมายให้องค์กรที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการแก้ไขปัญหากว่า 52 เรื่อง หากเวลาเนิ่นนานไปก็จะยิ่งมีเรื่องคั่งค้างสะสมมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นผลเสียต่อการปกป้อง คุ้มครอง และเยียวยาให้แก่ประชาชนผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนมากยิ่งขึ้น” ประธาน กสม. กล่าว

นายวัส กล่าวต่อว่า ในวันที่ 1 ต.ค.นี้ มีข้าราชการระดับสูงของสำนักงาน กสม. เกษียณอายุราชการ กสม. จึงมีหน้าที่แต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการแทนผู้ที่จะพ้นราชการ ซึ่งมีกระบวนการสรรหาโดยคณะกรรมการสรรหาที่ กสม. แต่งตั้ง

“ภายในวันที่ 15 ต.ค. นี้ กสม. ต้องส่งรายงานความสอดคล้องกับหลักการปารีสและเอกสารอื่น ๆ รวม 5 รายการ โดยจัดทำเป็นภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส หรือสเปน ทั้งในรูปแบบฉบับพิมพ์และอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อประกอบการประเมินสถานะของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของไทยขึ้นใหม่ หรือการขอคืนสถานะ A ไปให้ฝ่ายเลขานุการของ Sub-Committee on Accreditation (SCA) ใน Global Alliance of National Human Rights Institutions (GANHRI) และยังต้องให้ความเห็นชอบต่อร่างแนวปฏิบัติและร่างแถลงการณ์ รวมทั้งความเห็นต่อร่างข้อบังคับการดำเนินงานของกรอบความร่วมมือระหว่างสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (South East Asia National Human Rights Institutions Forum : SEANF) ซึ่ง กสม.ไทยเป็นสมาชิกอยู่ ก่อนที่จะมีการประชุมประจำปีของ SEANF ครั้งที่ 16 ระหว่างวันที่ 22-24ต.ค. 2562 ณ กรุงดิลี สาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์ – เลสเต ซึ่งเอกสารเหล่านี้ต้องผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุม กสม.” นายวัส กล่าว และย้ำว่า ตนได้ส่งสำเนาหนังสือดังกล่าวนี้ไปให้ประธานศาลปกครองสูงสุดซึ่งพร้อมที่จะร่วมแต่งตั้ง กสม.ชั่วคราวทราบด้วยแล้ว

ข่าวเด่น

ข่าวที่น่าสนใจ