สถาบันวัคซีนฯ ให้ทุนวิจัย “วัคซีนวัณโรคในผู้ใหญ่” พร้อมเสริมสร้างภาคีเครือข่ายนักวิจัยยุติวัณโรคยั่งยืน
เมื่อวันที่ 20 มี.ค. นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ (สวช.) เปิดเผยว่า วันที่ 24 มี.ค.ของทุกปี องค์การอนามัยโลกกำหนดให้เป็น “วันวัณโรคสากล” โดยในปี 2562 นี้ องค์การอนามัยโลกกำหนดประเด็นการรณรงค์ว่า It’s time to Zero TB หรือ “ถึงเวลา ยุติปัญหาวัณโรค” สำหรับประเทศไทย วัณโรคยังคงเป็นปัญหาสาธารณสุขของไทยและของโลก โดยไทยเป็น 1 ใน 14 ประเทศที่มีสถิติผู้ป่วยวัณโรคสูง
ทั้งนี้ ปัจจุบันแม้เราจะมีวัคซีนบีซีจีที่ใช้ป้องกันวัณโรคมานาน และเป็นหนึ่งในแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคที่รัฐจัดให้กับเด็กไทยทุกคน แต่กรณีวัณโรคในผู้ใหญ่วัคซีนบีซีจียังไม่มีประสิทธิภาพในการป้องกันวัณโรคได้ ทำให้ทั่วโลกและประเทศไทย ต่างพยายามวิจัยพัฒนาวัคซีนป้องกันวัณโรคในผู้ใหญ่
นพ.นคร กล่าวว่า การวิจัยพัฒนาวัคซีนป้องกันวัณโรคในผู้ใหญ่ หรือวัคซีนวัณโรคชนิดใหม่ได้รับการบรรจุเป็น 1 ใน 10 โครงการสำคัญในวาระแห่งชาติด้านวัคซีน ซึ่ง สถาบันได้สนับสนุนทุนมาอย่างต่อเนื่องจำนวน 3 โครงการ คือ 1.การพัฒนาหรือค้นหาแอนติเจนชนิดใหม่เพื่อพัฒนาเป็นวัคซีนต้นแบบที่มีคาร์โบไฮเดรตเป็นองค์ประกอบหลัก (Carbohydrate based) 2.การพัฒนาวัคซีนต้นแบบชนิดตัดต่อพันธุกรรม (Recombinant BCG) และ 3.การพัฒนาวัคซีนต้นแบบจากการคัดเลือกตำแหน่งจำเพาะ ของโปรตีนบนผิวเซลล์ของเชื้อที่มีการแสดงออกในระยะแฝงเท่านั้นและสามารถกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันได้ดี (DosR epitope) นอกจากนี้ยังมีการสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานและนักวิจัยภายในประเทศ โดยมี ศ.ดร.ธนาภัทร ปาลกะ ผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์การวิจัยวัคซีนวัณโรคเป็นประธานเครือข่าย รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญและผู้ทรงคุณวุฒิเป็นที่ปรึกษา เพื่อร่วมกันวิจัยพัฒนาวัคซีนวัณโรคชนิดใหม่ตั้งแต่ระดับต้นน้ำ
“การลงทุนด้านวัคซีนเป็นการลงทุนระยะยาวและมีความเสี่ยง เพราะการวิจัยพัฒนาวัคซีนแต่ละชนิดนั้น เมื่อไปจนสุดทางแล้วก็อาจจะยังไม่ได้ผลดี และไม่สามารถผลิตออกมาขายหรือทำการตลาดที่สร้างผลตอบแทนที่คุ้มค่าได้ อย่างไรก็ตามงานวิจัยพัฒนาวัคซีนต้องได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจังจากทุกส่วนทั้งในระดับรัฐบาล ภาคเอกชน และประชาชน เพื่อร่วมกันสร้างความมั่นคงด้านวัคซีนให้เกิดขึ้น” นพ.นครกล่าว
///