ศปถ.แถลงปิดโครงการรณรงค์ป้องกันอุบัติเหตุช่วงปีใหม่ 7 วันอันตราย เกิดอุบัติเหตุรวม 3,791 ครั้ง ยอดตายทะลุ 463 เจ็บ 3,892 ราย สาเหตุหลักยังเป็นเมาแล้วขับ
เมื่อวันที่ 3 ธ.ค.นายสุธี มากบุญ รมช.มหาดไทย เป็นประธานแถลงสรุปผลการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน (ศปถ.)ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2562 ว่า สรุปสถิติอุบัติเหตุทางถนนเทศกาลปีใหม่ 2562 ช่วง 7 วันของการรณรงค์ “ขับรถมีน้ำใจ รักษาวินัยจราจร” ระหว่างวันที่ 27 ธ.ค. 61 - 2 ม.ค. 62 เกิดอุบัติเหตุรวม 3,791 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตรวม 463 ราย ผู้บาดเจ็บ 3,892 คน
ทั้งนี้ วันที่ 2 ม.ค.เป็นวันสุดท้ายของการรณรงค์ เกิดอุบัติเหตุ 369 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 44 ราย ผู้บาดเจ็บ 391 คน สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 30.35 และขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 29.54 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 79.53 รถปิคอัพ 5.70 ส่วนใหญ่เกิดในเส้นทางตรง ร้อยละ 68.56 บนถนนกรมทางหลวง ร้อยละ41.46 ถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 32.25
อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ได้เรียกตรวจยานพาหนะ 890,673คัน มีผู้ถูกดำเนินคดี รวม 182,023 ราย มีความผิดฐานไม่สวมหมวกนิรภัยอ46,248 ราย ไม่มีใบขับขี่ 41,473 ราย จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา (17 ครั้ง)
รมช.มหาดไทย กล่าวว่า สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสม 7 วัน (27 ธ.ค.61 – 2 ม.ค. 62) จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิตมี 4 จังหวัด ได้แก่ ตาก แพร่ สตูล และสมุทรสงคราม จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช (118 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ นครราชสีมา (25 ราย) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช (137 คน) สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 40.39 ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 28.30 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 79.64 รถปิคอัพ 6.95
ด้าน นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) กล่าวว่า แม้จะสิ้นสุดการดำเนินงานลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2562 แล้ว ศปถ. โดยความร่วมมือของกระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยังคงมุ่งสร้างความปลอดภัยทางถนนอย่างต่อเนื่อง โดยจะนำสถิติอุบัติเหตุทางถนนมาวิเคราะห์หาสาเหตุ และ ถอดบทเรียนการดำเนินงาน พร้อมนำความสำเร็จของจังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิตมาเป็นต้นแบบในการวางแนวทางและกำหนดทิศทางการสร้างความปลอดภัยทางถนนต่อไป
นอกจากนี้ ให้จังหวัดเร่งประชาสัมพันธ์สร้างความตระหนักและจิตสำนึกด้านความปลอดภัยทางถนนที่ครอบคลุมทุกช่องทางสื่อ เพื่อขับเคลื่อนการลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนให้ได้มากที่สุด และสร้างให้ถนนทุกสายเป็นเส้นทางแห่งความปลอดภัยอย่างยั่งยืน