มท.1 ประชุมด่วนเตรียมพร้อมรับมือพายุโซนร้อน “ปาบึก” ย้ำ 16 จังหวัดพื้นที่เสี่ยงต้องเฝ้าระวัง สั่งติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมวางแผนการเผชิญเหตุให้ครอบคลุมทุกด้าน
เมื่อวันนี้ 2 ม.ค.เวลา 15.00 น. ที่กระทรวงมหาดไทย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) เป็นประธานการประชุมในการเฝ้าระวัง ติดตาม และเตรียมการเผชิญเหตุกรณีพายุโซนร้อน “ปาบึก” (PABUK) ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ไปยัง 14 จังหวัดพื้นภาคใต้ จ.เพชรบุรี และจ.ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อติดตามการเตรียมความพร้อมในการรับมือพายุโซนร้อนปาบึก โดยมีผู้แทนหน่วยงานตามโครงสร้างของกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.) กรมชลประทาน ศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กระทรวงกลาโหม และเหล่าทัพ เข้าร่วมประชุมฯ
พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย เปิดเผยว่า การประชุมของ บกปภ.ช. ในวันนี้ เป็นกรณีเร่งด่วน เนื่องจากมีการคาดการณ์และแนวโน้มสถานการณ์กรณีพายุโซนร้อน “ปาบึก” ที่เกิดขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่จังหวัดภาคใต้ รวมถึงพื้นที่เสี่ยง ได้แก่ จ.เพชรบุรี และ จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อติดตามการเตรียมความพร้อมในการเผชิญเหตุในระดับพื้นที่ของจังหวัดต่างๆ ซึ่งจากการติดตามสภาพอากาศและปริมาณฝนของกรมอุตุนิยมวิทยา ทราบว่าในระยะนี้ภาคใต้ และพื้นที่เสี่ยง จะมีปริมาณฝนตกอย่างต่อเนื่อง และจะมีฝนมากขึ้นและฝนตกหนักบางแห่ง ในช่วงวันที่ 3-5 ม.ค.นี้
ทั้งนี้ บกปภ.ช.ได้เน้นย้ำให้จังหวัดเฝ้าระวัง ติดตาม และเตรียมการเผชิญเหตุ พร้อมทั้งกำหนดแนวทางการรับมือ ป้องกัน และแก้ไขปัญหาให้สอดคล้องกับสภาพความเสี่ยงภัยในพื้นที่ รวมทั้งให้มีการประเมินสถานการณ์ ติดตามสภาพอากาศ ปริมาณฝน ระดับน้ำ และแนวโน้มสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่มในพื้นที่เสี่ยงภัย และจัดเตรียมความพร้อมให้ครอบคลุมในทุกๆ ด้าน ทั้งด้านเครื่องมืออุปกรณ์ ระบบสาธารณูปโภค ด้านคมนาคม และสิ่งสาธารณประโยชน์ รวมทั้งให้จังหวัดจัดทำแผนการเผชิญเหตุ แผนอพยพ และแผนการฟื้นฟูภายหลังการเกิดเหตุให้ครอบคลุมทั้งระบบอีกด้วย
รมว.มหาดไทย กล่าวย้ำว่า ขอให้ทุกหน่วยนำแนวทางปฏิบัติตามที่ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ทรงมีพระราโชบายในการให้ความช่วยเหลือประชาชน โดยมีแนวทางการปฏิบัติที่สำคัญ ได้แก่ 1.ให้ประชาชนที่อยู่ในภาวะทุกข์ร้อนกลับสู่สภาพเดิมโดยเร็ว 2.ในการทำงานทุกงานให้มีแผนเผชิญเหตุไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนที่จะเป็นอุปสรรคให้ เกิดความเสียหาย และมีแผนสำรองสำหรับทางออกทุกกรณี และ 3.ให้น้อมนำกระแสพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นแนวทางในการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนแนวทางการดำเนินงานและข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี เพื่อให้การปฏิบัติการช่วยเหลือ และการฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยกลับสู่ภาวะปกติโดยเร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม ขอให้ทุกภาคส่วนได้บูรณาการทำงานร่วมกัน ทั้งการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ภัย ได้แก่ การเคลื่อนตัวของพายุ การวิเคราะห์สถานการณ์น้ำและปัจจัยเสี่ยงเชิงพื้นที่ รวมถึงการเตรียมความพร้อมปฏิบัติการในระดับพื้นที่ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การเตรียมพร้อมของทุกหน่วยงานทั้งหมดนี้ จะช่วยให้การปฏิบัติการสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี รวมทั้งให้ช่วยกันสร้างการรับรู้และความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนในทุกช่องทาง