สถ.เด้งรับแนวปฏิบัติของมหาดไทยกำชับ โรงเรียนสังกัด อปท.ทั่วประเทศเร่งสร้างหลักประกันคุณภาพการศึกษา
เมื่อวันที่ 20 พ.ย. นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.)กระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า กระทรวงมหาดไทยได้แจ้งไปยังผู้ว่าราชการทุกจังหวัดถึงประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง มาตรฐานการศึกษาระดับปฐมวัย มาตรฐานการศึกษาระดับขั้นพื้นฐาน และแนวทางปฏิบัติในการดำเนินงานการประกันคุณภาพการศึกษาเพื่อประกันคุณภาพภายในโรงเรียนสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เมื่อวันที่ 1 พ.ย. กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) ในฐานะหน่วยงานหลักที่มีหน้าที่ในการสนับสนุน และส่งเสริมการจัดการศึกษาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ได้รับแนวปฏิบัติดังกล่าวมาดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพื่อให้เกิดการพัฒนา ส่งเสริม กำกับดูแล และติดตามตรวจสอบคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนในสังกัด อปท. ทั่วประเทศ
ทั้งนี้ ประกาศกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยแนวทางปฏิบัติในการดำเนินงานการประกันคุณภาพการศึกษาเพื่อประกันคุณภาพภายในโรงเรียนสังกัดอปท. ได้กำหนดรายละเอียด ให้โรงเรียนในสังกัด ทั่วประเทศต้องดำเนินการในหลายเรื่อง เช่น จัดทำแผนพัฒนาการศึกษา 4 ปี แผนปฏิบัติการประจำปีงบประมาณ และแผนปฏิบัติการประจำปีการศึกษาให้มีความสอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการจำเป็นของโรงเรียนอย่างเป็นระบบ, มีการประเมินผลการดำเนินงานเพื่อพัฒนาสถานศึกษาภายในโรงเรียน
อย่างไรก็ตาม มีการกำหนดผู้รับผิดชอบ และวิธีการที่เหมาะสม และมีการจัดทำรายงานผลการประเมินตนเอง (Self-Assessment Report : SAR) ตามมาตรฐานการศึกษาของโรงเรียน และนำเสนอรายงานผลการประเมินตนเองต่อคณะกรรมการสถานศึกษาเพื่อให้ความเห็นชอบและจัดส่งรายงานดังกล่าวต่อ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้นสังกัด เป็นประจำทุกปี ทั้งยังให้โรงเรียนในสังกัด อปท. ให้ความร่วมมือกับสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ในการประเมินคุณภาพภายนอก เพื่อปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพการศึกษาตามข้อเสนอแนะของ สมศ. และหน่วยงานต้นสังกัด เพื่อนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาต่อไปด้วย
นอกจากนี้ ยังรับแนวปฏิบัติตามประกาศกระทรวงมหาดไทยที่เกี่ยวข้องกับ สถ. มาดำเนินการ ทั้งในด้านการส่งเสริม สนับสนุน ให้คำปรึกษา และช่วยเหลือ อปท. เพื่อการพัฒนาระบบประกันคุณภาพการศึกษา , ดำเนินการศึกษา วิเคราะห์ สรุปผลรายงานการประเมินตนเองของโรงเรียน (SAR) และรวบรวมประเด็นที่ต้องการให้มีการประเมินผลไปยังสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ไว้ใช้เป็นข้อมูลและแนวทางในการประเมินคุณภาพภายนอก ทั้งยังต้องติตตามผลการดำเนินงาน ปรับปรุง และพัฒนาคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนตามข้อเสนอแนะของ สมศ. เพื่อนำไปสู่การยกระดับคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาของโรงเรียนในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่อไป