สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทยร่วมกับหลายองค์กรจัดงานเพื่อขับเคลื่อนความยั่งยืนในเวทีโลกมีผู้นำองค์กรหลายประเทศมาร่วมสร้างแรงบันดาลใจเพื่อขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ
สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (GCNT) ร่วมกับ คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (UN ESCAP) และทีมงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UN Country Team Thailand) ร่วมเป็นเจ้าภาพ “UNGC Leaders Summit 2022 : Sustainability in ASEAN” เพื่อขับเคลื่อนความยั่งยืนในเวทีโลก รวมพลผู้นําความยั่งยืนทั้งในและต่างประเทศจากภาคธุรกิจ ภาครัฐ และเครือข่ายท้องถิ่นของ UN Global Compact Local Networks อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ มาเลเซียและบรูไน ร่วมสร้างแรงบันดาลใจและกระตุ้นการแก้ปัญหาในระดับท้องถิ่นและระดับภูมิภาค ขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ เร่งความก้าวหน้าสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนและข้อตกลงปารีส เพื่อสร้างเครือข่ายผู้นำที่มุ่งมั่นขับเคลื่อน ความยั่งยืน โดยมี การถ่ายทอดสดจากไทยไปทั่วโลก ที่มีผู้ร่วมงานกว่า 10,000 คน
นางอาร์มิดา ซัลเซีย อาลีเชียบานา (H.E. Armida Salsiah Alisjahbana) รองเลขาธิการสหประชาชาติ และเลขาธิการบริหารคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (UN ESCAP) กล่าวเปิดการประชุมว่า เครือข่ายธุรกิจเพื่อความยั่งยืนแห่งคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (ESBN) ซึ่งประกอบด้วย ผู้นำจากภาคธุรกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค ได้ร่วมกันรับรองปฏิญญาความร่วมมือเพื่อปฏิรูปธุรกิจสีเขียวแห่งเอเชียแปซิฟิค นำสู่แผนปฏิบัติการของภาคธุรกิจในการดูแลและบรรเทาภาวะโลกร้อน แสดงถึงความพร้อมในการเป็นผู้นำความยั่งยืนที่จะขยายผลไปยังระดับภูมิภาค เครือข่ายธุรกิจเพื่อความยั่งยืนแห่งคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (ESBN) จะเป็นผู้นำในการเร่งสร้างเศรษฐกิจและสังคมสีเขียวให้แก่ภูมิภาคนี้
ด้านนายนพปฎล เดชอุดม ประธานคณะผู้บริหารด้านความยั่งยืนองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ และเลขาธิการ GCNT กล่าวว่า ปีนี้อาเซียนและโลกกำลังเผชิญกับความปัญหาหลายเรื่องพร้อมๆกัน ไม่ว่าจะเป็นการระบาดของ COVID ความขัดแย้งในยูเครน ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น แต่สถานการณ์นี้เป็นโอกาสให้ได้ทบทวนการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจ ตลอดจนบทบาทและความรับผิดชอบของภาคธุรกิจในการกำหนดวาระความยั่งยืนระดับโลก ซึ่งผู้นำต้องแสดงความรับผิดชอบในการจัดการผลกระทบจากธุรกิจของตนเองต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม เป็นสัญญาณที่น่ายินดีที่ภาคธุรกิจร่วมขับเคลื่อน SDGs มากขึ้น ทำให้มีความคืบหน้าในหลายเรื่อง แต่ก็ยังมีงานอีกมากที่ต้องทำ และภาคธุรกิจต้องเพิ่มความพยายามในการปรับกลยุทธ์ แบ่งปันการเรียนรู้ และสร้างพันธมิตรเพื่อ การทำงานร่วมกันที่มีความหมาย
ด้านน.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า ก.ล.ต. มุ่งมั่นส่งเสริมบรรยากาศการลงทุนที่ยั่งยืนและพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจด้วยความรับผิดชอบ โดยมีแผนที่จะเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ส่งเสริมการมีส่วนร่วม ความไว้วางใจ และความเชื่อมั่นในตลาดทุนไทย เผยแพร่ความรู้และเสริมสร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของเป้าหมาย SDGs ร่วมกัน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ภาคธุรกิจ และองค์กรระหว่างประเทศ รวมทั้งผลักดันการดำเนินงาน เพื่อให้ตลาดทุนไทยเป็นกลไกสำคัญในการปรับโครงสร้างสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนและทำให้เศรษฐกิจไทยเป็นเศรษฐกิจดิจิทัล โดยให้เศรษฐกิจของประเทศ สามารถปรับตัวเข้ากับภูมิทัศน์ของโลกในปัจจุบัน และเป็นที่ยอมรับในระดับสากล
ทั้งนี้ ในการประชุมในครั้งนี้ เริ่มด้วยเวที SDGs Ambition พูดคุยถึงความสําคัญและคุณค่าของการกําหนดและบูรณาการ SDGs ผ่านการปฎิบัติการในห่วงโซ่อุปทาน โดยเฉพาะในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา จากสถานการณ์โควิด แผนงานต่างๆ เพื่อบรรลุเป้าหมาย net zero จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยี การลงทุน การร่วมมือ และคำมั่นสัญญาจากผู้บริหารระดับสูง กล่าวได้ว่าต้นทุนการไม่ริเริ่มอะไรเลย มีมูลค่าที่สูงกว่าการปรับตัวของแต่ละอุตสาหกรรม ซึ่งมีลักษณะเฉพาะตัว จากปัญหาที่แตกต่างกัน
ขณะที่ นางกลอยตา ณ ถลาง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบริหารความยั่งยืนและสื่อสารองค์กร บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หนึ่งในผู้นำธุรกิจไทยที่ร่วมเปิดวิสัยทัศน์และเป้าหมายขององค์กรในเวทีนี้ กล่าวว่า เป็นโอกาสดีที่ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และเรียนรู้เกี่ยวกับเป้าหมายด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนกับผู้นำธุรกิจจากประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียน สิ่งที่ทุกคนเห็นพ้องกัน คือ ต้องมีการตั้งเป้าหมายที่ชัดเจน ทำได้จริง ให้ความสำคัญและทำความเข้าใจกับเรื่องนี้ตั้งแต่ระดับกรรมการ ผู้บริหาร จนถึงพนักงาน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทางธุรกิจ ซึ่ง UNGC มี SDG Ambition Guide และ SDG Tools เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้สามารถตั้งเป้าหมายได้ชัดเจนติดตามผลได้ง่ายขึ้น และความร่วมมือกับพันธมิตรต่างๆ ก็เป็นสิ่งสำคัญ กลุ่มบางจากฯ ได้ตั้งเป้า carbon neutrality ในปี 2030 และ net zero ในปี 2050 ซึ่งไม่สามารถบรรลุเป้าหมายเหล่านี้ได้ด้วยตนเอง จึงใช้หลักการ “Leading Inclusively” นำพาผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วนไปสู่เป้าหมายนี้ด้วยกัน
นอกจากนั้น มีเวทีเสวนาของผู้นำ SMEs ได้พูดคุยกันถึงการบูรณาการความยั่งยืนในการดําเนินงานของ SMEs เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการผลักดันเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนและปลดล็อกโอกาสทางการตลาดด้วย โดยเริ่มจากการสร้างความเข้าใจและประโยชน์ที่จะได้รับเพื่อสร้างแรงจูงใจคู่ไปกับการเสริมความรู้และตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม เช่น การนำ pain point ของลูกค้า มาเป็นไอเดียพัฒนาโซลูชั่นที่เป็นไปได้ เพื่อเข้าถึงคนรุ่นใหม่ และสุดท้ายต้องมีเครือข่ายหรือระบบนิเวศ(Ecosystem) ซึ่งจะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน และร่วมมือกันได้ง่าย ซึ่งเป็นการสร้างโอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจและทำให้สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน
อย่างไรก็ตามในช่วงบ่าย เริ่มด้วยเวทีที่เจาะลึกถึง 3 วาระสำคัญด้านความยั่งยืน ได้แก่ ภาวะฉุกเฉินด้านสภาพอากาศ ความหลากหลายทางชีวภาพ และการพัฒนาทางสังคม โดยเริ่มด้วยการแลกเปลี่ยนถึงวิธีการที่ภาคธุรกิจรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ ที่เป็นเหมือนสองด้านของวิกฤติเดียวกัน ซึ่งควรได้รับการแก้ไขแบบบูรณาการ ปิดท้ายการประชุม ด้วยประเด็น Social Sustainability ที่พูดคุยกันถึงแนวโน้มการลงทุนทางสังคมในโลก หลังโควิด ซึ่งจะได้เห็นภาคธุรกิจเพิ่มการลงทุนและความมุ่งมั่นในประเด็นความยั่งยืนทางสังคมอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน เพื่อร่วมสร้างชุมชนและระบบนิเวศที่เจริญเติบโต
นายพีรพงศ์ กรินชัย รองกรรมการผู้จัดการบริหาร สำนักวิศวกรรมกลาง ในฐานะประธานคณะทำงานด้านการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ น้ำ และของเสีย บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ได้แชร์ว่า ซีพีเอฟมุ่งสู่การหมุนเวียนทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่าตลอดห่วงโซ่คุณค่าและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ โดยมีการพัฒนามาตรฐานการจัดหาวัตถุดิบอย่างยั่งยืนตลอดห่วงโซ่อุปทาน โดยกำหนดเป้าหมายว่าในปี 2573 การจัดซื้อวัตถุดิบทางการเกษตรหลักที่สำคัญ100% จะต้องสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ และมาจากพื้นที่ที่ไม่ตัดไม้ทำลายป่าและความหลากหลายทางชีวภาพ ซีพีเอฟยังได้ยกระดับการจัดการข้อมูลให้เชื่อมต่อสู่กระบวนการผลิตด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) เพื่อทำให้การตรวจสอบย้อนกลับแม่นยำและรวดเร็วยิ่งขึ้น
กีต้า ซับบระวาล ผู้แทนสหประชาชาติประจำประเทศไทย กล่าวปิดการประชุมว่า ภาคเอกชนจะมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนความมุ่งหมายของประเทศตามกรอบความร่วมมือว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (UN Sustainable Development Cooperation Framework : UNSDCF) ในช่วง 5 ปีข้างหน้า ที่สำคัญอย่างยิ่ง คือ การขับเคลื่อนวาระร่วม เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพ
สำหรับ การประชุมครั้งนี้ ตอกย้ำว่าภูมิภาคอาเซียนจะเป็นผู้จุดไฟในการขยายผลความยั่งยืนไปยังภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในวงกว้าง เพื่อสร้างสิ่งที่ดีกว่าร่วมกัน