สสส.จับมือกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ-จุฬาฯพัฒนาความร่วมมือช่วยเหลือคนไร้บ้านตอบโจทย์ด้านที่อยู่อาศัย ภายใต้การมีส่วนร่วมและยกระดับศักยภาพของคนไร้บ้าน
นายอนุกูล ปีดแก้ว อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ (สำนัก 9) สสส. รศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมด้วยเครือข่ายคนไร้บ้าน มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ลงพื้นที่พบคนไร้บ้านบริเวณหัวลำโพง พร้อมเปิดตัว “นวัตกรรมการจัดบริการที่อยู่อาศัยและความช่วยเหลือฉุกเฉินบนฐานการมีส่วนร่วมของคนไร้บ้าน”
นายอนุกูล เปิดเผยว่า กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ร่วมกับภาคีเครือข่าย และคนไร้บ้าน ประชาคมเพื่อทางออกร่วมกัน โดยได้กำหนดกรอบการพักอาศัยและรูปแบบการแชร์ ค่าเช่าที่อยู่อาศัย ยังได้สนับสนุนให้บุคลากร นักสังคมสงเคราะห์ในสังกัด ร่วมเป็น Case Manager เพื่อวางแผน ให้ความช่วยเหลือต่อเนื่องในระยะยาวต่อไป
ด้าน นางภรณี กล่าวว่า การทำงานของ สสส. ร่วมกับทางนักวิชาการจากแผนงานพัฒนาองค์ความรู้ฯ คนไร้บ้านของสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้คาดการณ์ว่าจำนวนคนไร้บ้านในกทม.มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นร้อยละ 30 จากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจและปากท้อง ของกลุ่มเปราะบางในเขตเมือง ซึ่งข้อมูลดังกล่าวมีความใกล้เคียงกับการสำรวจแบบเร่งด่วน (rapid survey) ของกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการที่พบคนไร้บ้านเพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนโควิด-19 ในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน
ทั้งนี้ ปัญหาดังกล่าวทาง สสส. ได้ร่วมหารือกับทางกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ จุฬาฯมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย และภาคีเครือข่าย ในการพัฒนานวัตกรรมเพื่อสนับสนุนการตั้งหลักของคนไร้บ้านหรือกลุ่มเปราะบางที่เพิ่งเข้าสู่ภาวะไร้บ้าน เพื่อป้องกันความเสี่ยงทางสุขภาพและจิตจากการใช้ชีวิตบนพื้นฐานสาธารณะเป็นเวลานาน ทั้งนี้ “นวัตกรรมการจัดบริการที่อยู่อาศัยและความช่วยเหลือฉุกเฉินบนฐานการมีส่วนร่วมของคนไร้บ้าน” มีจุดเน้นสำคัญในการปรับวิธีการจัดการด้านที่อยู่อาศัยสำหรับคนไร้บ้าน ผ่านกระบวนการที่เน้นการมีส่วนร่วมของคนไร้บ้านในการ “แชร์” ค่าเช่าที่อยู่อาศัย ร่วมกับกองทุนที่เครือข่ายคนไร้บ้านและมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัยได้จัดตั้งขึ้น รวมถึงการสนับสนุนด้านอาชีพและการหารายได้จากการทำงานของกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ร่วมกับทาง สสส. ทั้งนี้ การพัฒนานวัตกรรมฯ ดังกล่าวเริ่มดำเนินการตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา อยู่ในช่วงของการประเมินผลและการออกแบบเพื่อตอบโจทย์เชิงระบบและการขยายผลในระยะยาว”
“หัวใจสำคัญของนวัตกรรมและความร่วมมือดังกล่าวนี้ อยู่ที่มีความเชื่อมั่นในศักยภาพของคนไร้บ้าน ที่สามารถตั้งหลักชีวิตได้ด้วยตนเอง หากได้รับการสนับสนุนและโอกาสที่เหมาะสม” นางภรณี กล่าว
ขณะที่ นายสมพร หารพรม มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย กล่าวว่า นวัตกรรมและความร่วมมือดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นการเปิดวิธีการใหม่ในการสนับสนุนดูแลคนไร้บ้านด้านที่อยู่อาศัยและคุณภาพชีวิต ที่ตอบโจทย์ด้านที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมสำหรับคนไร้บ้านและกลุ่มเปราะบางที่ส่วนใหญ่ เป็นแรงงานรายวัน และจะต้องอยู่ใกล้กับแหล่งงานในเมือง รวมถึงตอบโจทย์ด้านความแออัดของศูนย์พักคนไร้บ้านของภาครัฐและภาคเอกชน ภายใต้การสนับสนุนด้านอาชีพและการหารายได้บนพื้นฐานศักยภาพของคนไร้บ้าน