นครราชสีมา-นศ.8 สถาบันจากทั่วประเทศและหน่วยงานเครือข่ายเข้าร่วมประชันฝีมือในเทศกาลหุ่นฟางยักษ์โคราช ทุกคนปลื้มเปิดพื้นที่ให้คนมีหัวใจรักศิลปะมาเจอกัน
เมื่อวันที่ 8 ก.ย.สำนักงานวัฒนธรรมจ.นครราชสีมา ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน จัดเทศกาลหุ่นฟางโคราชขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ ที่ศูนย์หนองระเวียง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน อ.เมือง ชิงเงินรางวัลกว่า 1 แสนบาท ซึ่งเป็นกิจกรรมหนึ่งภายใต้โครงการเมืองศิลปวัฒนธรรม Art and Culture สู่การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ Thailand Biennale Korat 2020 ที่ระดมประชาชน ช่างฝีมือ และนักศึกษาระดับอุดมศึกษา จาก 8 สถาบันทั่วประเทศ มาโชว์ฝีมือเชิงประติมากรรมประดิษฐ์หุ่นฟางเชิงศิลป์ ภายใต้คอนเซ็ปต์ โคราชดินแดนบรรพชีวิน
ทั้งนี้ มีผลงานส่งเข้าประกวดและจัดแสดงกว่า 20 ตัว แบ่งการประกวดออกเป็น 2 ระดับ ได้แก่ ระดับประชาชนทั่วไป และนักศึกษาระดับอุดมศึกษา จัดระหว่างวันที่ 1-10 ก.ย. 2562 ชิงเงินรางวัลกว่า 1 แสนบาท โดยวันที่ 9 ก.ย.2562 เป็นการตัดสินรอบชิงชนะเลิศ และทำพิธีมอบรางวัล ในวันที่ 10 ก.ย. 2562
อย่างไรก็ตาม บรรยากาศการรังสรรค์ผลงานของอาจารย์และนักศึกษาจาก 8 สถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ ต่างขะมักเขม้น ทุ่มเทฝีไม้ลายมือ รังสรรค์ผลงานกันอย่างเต็มที่ ตั้งแต่การออกแบบ ทำโมเดลหุ่นปูนปั้น ไปจนถึงการถอดแบบเชื่อมโครงเหล็ก การทำแผ่นประกบ เพื่อประกอบเป็นหุ่นฟางตามแบบ
นายนันทวุฒิ สิทธิวัง อาจารย์คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ จ.สงขลา เปิดเผยว่า เข้าร่วมกิจกรรมในเครือข่าย 8 สถาบันมาโดยตลอด และปีนี้นำทีมนักศึกษา 10 คนมาสร้างสรรค์ผลงานประติมากรรมแต่เป็นหุ่นฟางเป็นปีแรก ถือเป็นโอกาสที่ดี จะได้พบปะคนทำงานศิลป์ด้วยกัน และยังได้เปิดพื้นที่ให้นักศึกษาของสถาบันฯได้โชว์ฝีมือแสดงผลงานให้ได้ชมอย่างกว้างขวาง การเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ไม่ได้คาดหวังรางวัล แต่ต้องการให้นักศึกษาได้มีประสบการณ์ตรงในการทำชิ้นงานและได้รู้จักเพื่อนๆ สร้างเครือข่ายความร่วมมือได้ต่อไปในอนาคต
ด้าน น.ส.ลูกปลิว จันทร์พุดซา อาจารย์ประจำภาควิชาประติมากรรม คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า ได้นำผลงานศิลปะที่หลากหลายจากทั่วประเทศมาจัดแสงในรูปแบบของหุ่นฟาง สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ของผู้คน และอัตลักษณ์ความเป็นหนึ่งของจังหวัด ในฐานะดินแดนแห่งบรรพชีวิน ซึ่งที่ผ่านมาพื้นที่ให้แสดงผลงานยังมีน้อย ทั้งที่เป็นจังหวัดที่มีศิลปินอยู่มากมาย จึงเป็นกิจกรรมที่ดีที่จะได้เปิดภาพโคราชเมืองศิลปะให้เป็นที่รู้จักและเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น
ขณะที่ นายปวีร์ ชมโฉม นิสิตคณะจิตกรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และกลุ่มเพื่อนๆ ที่เดินทางมาร่วมรังสรรค์ผลงาน กล่าวว่า ดีใจที่ได้มีโอกาสมาแสดงผลงานการปั้นประดิษฐ์หุ่นฟางเป็นครั้งแรก แม้จะยากและแตกต่างจากงานปั้นทั่วไป แต่ทุกคนพยายามรวบรวมความรู้ด้านประติมากรรมมาใช้ เพื่อให้ผลงานออกมาสวยงามและสมบูรณ์ที่สุด ถือเป็นประสบการณ์ชีวิตที่ได้มาลองทำ และที่สำคัญได้เจอเพื่อนที่มีหัวใจรักศิลปะเหมือนกัน