วธ. เผยผลการดำเนินงานขับเคลื่อนแผนแม่บทส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2559 - 2565) ชี้ประชาชนได้รับการอบรมพัฒนาคุณธรรมจริยธรรม ราว 26 ล้านคน กลุ่มเป้าหมายผ่านการประเมินองค์กรส่งเสริมคุณธรรมเพิ่มสูงขึ้น
วธ. เผยผลการดำเนินงานขับเคลื่อนแผนแม่บทส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2559 - 2565) ชี้ประชาชนได้รับการอบรมพัฒนาคุณธรรมจริยธรรม ราว 26 ล้านคน กลุ่มเป้าหมายผ่านการประเมินองค์กรส่งเสริมคุณธรรมเพิ่มสูงขึ้น
นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2566 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับทราบรายงานผลการขับเคลื่อนแผนแม่บทส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2559 – 2565) ของกระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมการศาสนา ในฐานะสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ที่ได้รับความร่วมมือและการบูรณาการขับเคลื่อนแผนแม่บทฯ จากทุกภาคส่วน โดยนำคุณธรรม 4 ประการ ที่สามารถเชื่อมโยงไปสู่คุณธรรมอื่น ๆ ได้อย่างครบถ้วน คือ พอเพียง วินัย สุจริต และจิตอาสา เป็นคุณธรรมเป้าหมายที่ปลูกฝังให้คนไทยตระหนักและประพฤติปฏิบัติในการดำเนินชีวิตที่ผ่านมา โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ได้ดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย
ยุทธศาสตร์ที่ 1 วางระบบรากฐานการเสริมสร้างคุณธรรมในสังคมไทย สนับสนุนการส่งเสริมและพัฒนาชุมชน องค์กร อำเภอ จังหวัดคุณธรรม ใน 3 ระดับ คือ ระดับส่งเสริมคุณธรรม ระดับคุณธรรม และระดับคุณธรรมต้นแบบ เน้นบูรณาการทำงานกับทุกภาคส่วนทุกพื้นที่ เพื่อสร้างอัตลักษณ์ที่มีความโดดเด่น 3 ประการ ได้แก่ คนในชุมชน/องค์กรปฏิบัติตามหลักธรรมทางศาสนาที่ตนนับถือ ดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และธำรงรักษาไว้ซึ่งวิถีวัฒนธรรมไทยที่ดีงาม โดยที่ผ่านมามีชุมชน องค์กร อำเภอ และจังหวัดที่ผ่านการประเมินใน 3 ระดับ จำนวน 39,102 แห่ง เพิ่มจากการดำเนินงานในปี 2564 คิดเป็นร้อยละ 9.24 นอกจากนี้ ได้จัดให้มีการคัดเลือกชุมชน องค์กร อำเภอ และจังหวัด ในระดับคุณธรรมต้นแบบ ที่มีผลสำเร็จการเปลี่ยนแปลงในเชิงพฤติกรรมของประชาชนจนเป็นที่ประจักษ์ เพื่อรับโล่รางวัลคุณธรรมต้นแบบโดดเด่นจากนายกรัฐมนตรี จำนวน 243 แห่ง ทำให้เกิดสังคมคุณธรรมที่เข้มแข็ง มีการสืบสานความเป็นไทย ด้วยการจัดกิจกรรมที่สอดคล้องตามเป้าหมายของแผนแม่บทฯ
ด้านยุทธศาสตร์ที่ 2 สร้างความเข้มแข็งในระบบการบริหารจัดการด้านการส่งเสริมคุณธรรมให้เป็นเอกภาพ โดยให้ทุกภาคส่วนใช้กลไกภาคีเครือข่ายในภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ร่วมบูรณาการดำเนินงานและรายงานผลการดำเนินงานด้านการส่งเสริมคุณธรรม ยึดข้อปฏิบัติหลัก 3 ประการ คือ ปฏิบัติตามหลักธรรมทางศาสนา น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และดำรงชีวิตตามวิถีวัฒนธรรมไทย ร่วมกับการนำคุณธรรม 4 ประการ “พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา” มาปรับใช้กับบริบทและภารกิจของแต่ละหน่วยงาน ซึ่งในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 มีหน่วยงานที่ให้ความสำคัญและสนับสนุนให้มีการจัดอบรมและพัฒนาคุณธรรมจริยธรรม จำนวน 130,585 แห่ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 363.28 และมีโครงการ/กิจกรรมส่งเสริมคุณธรรม จำนวน 18,878 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.97 บุคลากรและประชาชนทั่วไป ได้รับการอบรมพัฒนาคุณธรรมและจริยธรรม ประมาณ 26 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 304.23 หน่วยงานต่าง ๆ ให้การสนับสนุนการจัดกิจกรรมเทิดทูนสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ จำนวน 155,308 แห่ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 406.35 ในขณะที่มีจำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว ประมาณ 29 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 55.84
สำหรับยุทธศาสตร์ที่ 3 คือ การสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการส่งเสริมคุณธรรม ซึ่งผลจากการดำเนินงานที่ผ่านมา ทำให้เกิดการขยายเครือข่ายความร่วมมือไปยังภาคส่วนต่าง ๆ มีการสำรวจสถานการณ์คุณธรรมของสังคมไทยด้วยเครื่องมือดัชนีชี้วัดคุณธรรมเชิงพฤติกรรม มีการพัฒนาดัชนีชี้วัดคุณธรรม และรายงานสถานการณ์คุณธรรม ช่วงอายุ 13 – 24 ปี จัดทำหลักสูตรวิทยากรส่งเสริมคุณธรรมสำหรับกลไกคณะกรรมการส่งเสริมคุณธรรมระดับจังหวัดและระดับกระทรวง จัดทำโครงการสนับสนุนการขับเคลื่อนคุณธรรมของสังคมไทย ผ่านการขับเคลื่อนคุณธรรมเชิงพื้นที่ อาทิ โครงการส่งเสริมบุคคลและองค์กรต้นแบบด้านคุณธรรม การประกวดรางวัลคุณธรรมอวอร์ด (Moral Awards 2021) และโครงการครอบครัวคุณธรรมพลังบวกและการศึกษาระบบ Social Credit System ซึ่งมีการทดลองปรับใช้ในพื้นที่นำร่อง 10 หมู่บ้าน/ชุมชน/องค์กร นอกจากนี้ยังได้ดำเนินการจัดงานสมัชชาคุณธรรมระดับจังหวัด ภูมิภาค และสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ ตลาดนัดคุณธรรมระดับจังหวัด 4 จังหวัด ใน 4 ภูมิภาค รวมถึงได้รวบรวมถอดบทเรียนองค์ความรู้กรณีศึกษาผลสำเร็จการขับเคลื่อนองค์กรคุณธรรม พัฒนาระบบฐานข้อมูลเครือข่ายชุมชนท้องถิ่นคุณธรรมต้นแบบเผยแพร่ในรูปแบบดิจิทัล เพื่อให้ประชาชนสามารถสืบค้นนำไปใช้ประโยชน์ได้ พร้อมจัดการประชาสัมพันธ์ในเชิงรุก เพื่อสื่อสารให้เข้าถึงประชาชนอย่างต่อเนื่อง สร้างการรับรู้ด้วยการออกแบบตราสัญลักษณ์คุณธรรม 5 ประการ “พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา กตัญญู” ให้สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566 - 2570) และสร้างการมีส่วนร่วมด้วยการจัดประกวดคลิปวีดิโอและ Tiktok ภายใต้หัวข้อ คุณธรรมสรรค์สร้างเพื่อสังคมไทย หัวข้อ “วินัย” โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือเด็ก เยาวชน และประชาชนที่ใช้การสื่อสารผ่านสื่อสังคมออนไลน์
ยุทธศาสตร์ที่ 4 ส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นแบบอย่างด้านคุณธรรมในประชาคมอาเซียนและประชาคมโลก ดำเนินการสร้างความรู้ ความเข้าใจ ในการขับเคลื่อนแผนแม่บทฯ ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเน้นการบูรณาการของหน่วยงานทุกภาคส่วนด้วยมิติทางศาสนาและวัฒนธรรม ผ่านกิจกรรมประเพณีและวัฒนธรรมที่ดีงามของท้องถิ่น
ผลสำเร็จจากการดำเนินงานแผนแม่บทส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2559 - 2565) เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนส่งเสริมคุณธรรมสู่ประชาชนทั้ง 3 ระดับ คือ 1.ระดับประชาชน ประชาชนมีพฤติกรรมที่ถูกต้องดีงามด้วยหลักธรรมทางศาสนาหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และวิถีวัฒนธรรมไทยที่ดีงาม จากพลังขับเคลื่อนของผู้นำชุมชน พลังบวร และการสร้างความรู้ความเข้าใจระหว่างประชาชนกับท้องถิ่น 2.ระดับสังคม องค์กร ชุมชน หน่วยงาน เป็นสังคมคุณธรรมที่ยึดมั่นในสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ มีความเอื้ออาทรและแบ่งปัน ด้วยความร่วมมือของภาคีเครือข่าย ร่วมกับการนำคุณธรรม ๔ ประการ พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา มาปรับใช้กับบริบทและภารกิจของแต่ละหน่วยงาน และ 3.ระดับชาติ คนไทยมีลักษณะนิสัยรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ อันเป็นคุณสมบัติพื้นฐานที่เป็นทุนทางสังคมให้กับประเทศชาติ นอกจากนี้ยังมีความโอบอ้อมอารี มีจิตสาธารณะ เอื้อเฟื้อ แบ่งปัน ดังจะเห็นได้จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด คนไทยไม่ทอดทิ้งกัน ดังนั้น ทุนทางสังคมนี้จะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การขับเคลื่อนแผนแม่บทส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2559 - 2565) และแผนปฏิบัติด้านการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566 - 2570) ให้ดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรมและเป็นไปในแนวทางเดียวกันทั้งประเทศ ซึ่งกระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมการศาสนาได้ให้ความสำคัญกับการกำกับติดตามประเมินผลสำเร็จและผลกระทบของการดำเนินงานในภาพรวมอย่างต่อเนื่องต่อไป