นครราชสีมา-จับตาไข้เลือดออก 4 จังหวัดอีสานตอนล่างพบป่วยแล้วกว่า 1,200 ราย โคราชพบมากสุดเกือบ 1 พันราย เร่งรณรงค์กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายหวั่นเชื้อผสมกับโควิดทำให้ยุ่งยากต่อการรักษา
เมื่อวันที่ 30 มีนาคม นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า ได้รับแจ้งจากระทรวงมหาดไทยและกระทรวงสาธารณสุขว่า สถานการณ์โรคไข้เลือดออกจะกลับมาระบาดอีกครั้งในปีนี้ หลังจากที่เงียบหายไป 2 ปี เนื่องจากในสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ประชาชนอยู่บ้านไม่ได้มีกิจกรรมรวมตัวกัน แต่การกลับมาระบาดของโรคไข้เลือดออกในปีนี้ เกิดจากปัจจัยภูมิคุ้มกันหมู่ของประชาชนเริ่มต่ำลง เพราะภูมิต้านทานชั่วคราวที่เกิดจากการระบาดใหญ่ครั้งก่อนในประชาชนลดลง จึงป้องกันตนเองทั้งจากโควิด-19 และโรคไข้เลือดออกควบคู่กัน โดยการระบาดของโรคในปีนี้ อาจพบผู้ป่วยตลอดทั้งปี ถึง 95,000 ราย ซึ่งในช่วงฤดูฝน เดือนมิถุนายน – กันยายน อาจมีผู้ป่วยสูงขึ้น 10,000-16,000 รายต่อเดือน และหากมีผู้ป่วยโควิดติดเชื้อโรคติดต่อนำโดยยุงร่วมด้วย เช่น โรคไข้เลือดออก อาจทำให้มีอาการรุนแรง ส่งผลให้การรักษายุ่งยาก และมีโอกาสที่ผู้ป่วยจะเสียชีวิตได้มากขึ้น
ทั้งนี้ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา ระบุว่า ตั้งแต่เดือนมกราคม 2565 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2565 โรคไข้เลือดออกในพื้นที่ 4 จังหวัดภาคอีสานตอนล่าง ประกอบด้วย นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ พบผู้ป่วยไข้เลือดออกแล้ว 1,199 ราย แยกเป็น นครราชสีมา 737 ราย ชัยภูมิ 223 ราย บุรีรัมย์ 143 ราย และ สุรินทร์ 96 ราย สำหรับนครราชสีมามีอำเภอที่มีอัตราผู้ป่วยไข้เลือดออกสูงสุด คือ โนนไทย รองลงมา คือ โนนสูง และโชคชัย กลุ่มผู้ป่วยที่พบมากที่สุดจะเป็นกลุ่มเด็กอายุ 10-14 ปี จึงต้องเร่งมาตรการควบคุมป้องกันการระบาดของโรคด้วยการควบคุมกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ทั้งในสำนักงาน-สถานที่ในสังกัดอย่างต่อเนื่อง อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง พร้อมทั้งสร้างความเข้าใจประชาชนให้รับมือกับไข้เลือดออกได้อย่างถูกต้อง กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในบ้านเรือน และร่วมกันควบคุมป้องกันโรคในชุมชน เพื่อป้องกันไม่ให้โรคไข้เลือดออกระบาด ซ้ำเติมสถานการณ์โควิดในขณะนี้
สำหรับ อาการป่วยจากโรคไข้เลือดออก จะเกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี่ แต่โควิด 19 จะเกิดจากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ซึ่งจะมีอาการป่วยคล้ายๆกัน โดยโรคไข้เลือดออก ผู้ป่วยจะมีไข้สูงลอยประมาณ 2-7 วัน มีผื่น หน้าแดง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อย เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง บางรายอาจมีถ่ายดำหรือถ่ายเป็นเลือด และอาจเห็นจุดเลือดออกสีแดงเล็กๆ ตามผิวหนัง ส่วนผู้ป่วยโควิด 19 จะไข้ต่ำถึงสูง ปวดเมื่อยตามตัว เจ็บคอ ไอแห้ง หรือมีเสมหะ มีน้ำมูก หอบเหนื่อยหายใจลำบาก บางรายจะท้องเสีย อาเจียนส่วนในรายที่รุนแรงจะมีอาการปอดอักเสบ แต่จะไม่พบจุดเลือดออกตามผิวหนัง จึงต้องเร่งรณรงค์กระจายความรู้ให้ประชาชนได้เห็นความสำคัญ และร่วมป้องกันไม่ให้ไข้เลือดออกระบาดในพื้นที่