นักวิเคราะห์การลงทุนและผู้จัดการกองทุนจากบริษัทหลักทรัพย์ชั้นนำ บุกดูความยิ่งใหญ่ของ SPCG เผยแผนบิ๊กโปรเจกต์ลุยลงทุนธุรกิจปี 2562 ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตั้งเป้ากวาดรายได้ 7,000 ล้านบาท
เมื่อวันที่ 22 มี.ค. ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทเอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) หรือ “SPCG” พร้อมด้วยคณะผู้บริหารฯ ให้การต้อนรับนายสมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิการสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน พร้อมด้วยคณะผู้จัดการกองทุน นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ ซึ่งเป็นตัวแทนจากบริษัทหลักทรัพย์ชั้นนำของไทย ได้แก่ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย จำกัด ,บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บัวหลวง จำกัด ,บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด ,บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ,บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) , บริษัทหลักทรัพย์ คันทรี่ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) , บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน), บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด , บริษัทหลักทรัพย์ โนมูระ พัฒนสิน จำกัด (มหาชน) , บริษัทหลักทรัพย์ แมคควอรี (ประเทศไทย) จำกัด ,บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) และ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) รวมกว่า 20 คนในโอกาสให้เกียรติเข้าร่วมกิจกรรม SPCG’s Analyst Meeting เพื่อรับฟังข้อมูลเกี่ยวกับแผนการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ประจำปี 2562 พร้อมทั้งเยี่ยมชมการดำเนินงานของบริษัทฯ ณ บริษัท SPCG สำนักงานใหญ่
ดร.วันดี กล่าวว่าที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2562 ที่ผ่านมา มีมติอนุมัติแผนการดำเนินธุรกิจสำหรับปี 2562 โดยบริษัทฯตั้งเป้ารายได้เติบโตกว่า 7,000 ล้านบาท โดยการเติบโตของ SPCG มาจาก 2 ธุรกิจหลัก คือ ธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ หรือโซลาร์ฟาร์ม จำนวน 36 โครงการ รวมกำลังการผลิต 260 เมกะวัตต์ คิดเป็นสัดส่วนรายได้ ร้อยละ 70 ของรายได้รวม และธุรกิจติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา หรือ โซลาร์รูฟ คิดเป็นสัดส่วนรายได้ ร้อยละ 25 ของรายได้รวม โดยในปีนี้ บริษัท โซลาร์ เพาเวอร์ รูฟ จำกัด บริษัทในเครือ ตั้งเป้าการเติบโตของรายได้มากกว่า 2,000 ล้านบาท โดยยังคงมุ่งเน้นการเติบโตใน 3 กลุ่มหลักคือ กลุ่มบ้านพักอาศัย (Residential), กลุ่มสำนักงาน อาคาร ธุรกิจขนาดเล็ก ธุรกิจขนาดกลาง และธุรกิจขนาดใหญ่ (Commercial) และกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม (Industrial)
“ในปีนี้ ลูกค้าในกลุ่มลูกค้าที่อยู่อาศัย (Residential) คาดว่าจะเติบโตอย่างมาก เนื่องจากแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (Power Development Plan : PDP) ปี 2018 ในส่วนของโซลาร์ภาคประชาชนจำนวน 100 เมกะวัตต์ นอกจากจะมีส่วนช่วยในการประหยัดค่าไฟฟ้าในเวลากลางวันได้แล้ว ครัวเรือนที่สามารถผลิตหน่วยไฟฟ้าได้เกินกว่าการใช้งานยังสามารถจำหน่ายให้ภาครัฐได้ด้วย และหากประมาณการการติดตั้งให้แต่ละครัวเรือน ครัวเรือนละ 5 kWp สามารถครอบคลุมประชาชนได้ถึงปีละกว่า 20,000 ครัวเรือนทีเดียว ซึ่งเชื่อว่าจะกระตุ้นให้เกิดการตื่นตัวและมีความต้องการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาหรือ Solar Roof มากขึ้นในปีนี้” ดร.วันดีกล่าว
นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้จัดตั้งบริษัท Sakura Solar Limited Liability Company ซึ่งเป็นเป็นบริษัทย่อยในประเทศญี่ปุ่น เพื่อดำเนินการลงทุนในโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Farm) โดยมีผู้ร่วมก่อตั้งและสัดส่วนการถือหุ้น คือ Kyocera Corporation, Japan (Kyocera) ร้อยละ 49,Mitsubishi Research Institute, Inc. (MRI) ร้อยละ 34 และ SPCG Public Company Limited (SPCG) ร้อยละ 17
สำหรับ บริษัท Sakura Solar Limited Liability Company ซึ่งเป็นเป็นบริษัทย่อยในประเทศญี่ปุ่นนั้นมีโครงการที่จะดำเนินการก่อสร้างโซลาร์ฟาร์มเริ่มต้น 5 โครงการคือ 1.Kumamoto (1) Ichinomiya ขนาดกำลังการผลิต 1.9 เมกะวัตต์ 2.Kumamoto (1) Mashiki ขนาดกำลังการผลิต 1.5 เมกะวัตต์ 3.Kumamoto Kurumagaeri ขนาดกำลังการผลิต 1.5 เมกะวัตต์ 4.Kumamoto Minamata ขนาดกำลังการผลิต 24 เมกะวัตต์ และ 5.Kyoto Watsuka ขนาดกำลังการผลิต 38 เมกะวัตต์ รวมกำลังการผลิตทั้งสิ้น 66.9 เมกะวัตต์ ซึ่งใช้เงินในการลงทุนประมาณ 235 ล้านบาท โดยมีแผนการลงทุนในปี 2562 คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2563-2564
อย่างไรก็ตาม คณะผู้บริหารของ SPCG ประกอบด้วย นายชาญชัย บัณฑิตเสาวภาคย์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ นายสมศักดิ์ กุญชรยาคง กรรมการผู้จัดการ บริษัท โซล่า เพาเวอร์ จำกัด (บริษัทในเครือ บมจ.เอสพีซีจี) และ ดร.อลิษา กุญชรยาคง รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท โซล่า เพาเวอร์ จำกัด ร่วมนำคณะนักวิเคราะห์หลักทรัพย์เยี่ยมชมห้องประมวลผลและควบคุมโครงการโซลาร์ฟาร์มแบบ Real-timeด้วยระบบ SCADA (Monitoring Room)
ทั้งนี้ แสดงให้เห็นการติดตามและควบคุมการทำงานของโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มของ SPCG ทั้ง 36 แห่ง ส่งตรงมายังห้องควบคุมที่สำนักงานใหญ่ด้วยระบบเคเบิลไยแก้วนำแสง และระบบติดตามการทำงานของระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Roof) สำหรับลูกค้า ซึ่งสามารถแสดงผลต่างๆ ทั้งค่าพลังงานและจำนวนหน่วยไฟฟ้าที่ผลิตได้สภาพภูมิอากาศ และประมาณการณ์คาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งในกรณีเกิดความผิดปกติขึ้นกับระบบ Solar Roof บริษัทฯ ยังสามารถช่วยแก้ไขปัญหาให้ลูกค้าได้อย่างทันท่วงที