เบรกขสมก.ขึ้นค่าโดยสาร ผลศึกษาทีดีอาร์ไอคนกรุง 5 ล้านคน ไม่สามารถรับภาระค่ารถไฟฟ้าในปัจจุบันได้
เมื่อวันที่ 17 ม.ค. ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) สั่งให้ระงับการขึ้นค่าโดยสารรถประจำทางขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ที่จะเริ่มปรับขึ้นในวันที่ 21 ม.ค.นี้ไว้ก่อน และให้ ขสมก.ไปหารือกระทรวงคมนาคมและกรมการขนส่งทางบกอีกครั้ง
นางปานทิพย์ ศรีพิมล ที่ปรึกษาด้านพัฒนารัฐวิสาหกิจ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า ขสมก.ได้รายงานให้คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ทราบความคืบหน้าการรับมอบรถเมล์เอ็นจีวี 300 คัน และที่เหลือ 189 คัน ได้ภายในเดือน มี.ค. 2562 และจะจัดหาครบ 3,000 คัน ภายในปี 2565 มีการติดตั้งระบบจีพีเอสในรถครบถ้วนแล้ว เหลือติดตั้งระบบ E-Ticket สายต่างๆ ที่ยังล่าช้า
ด้านนายประยูร ช่วยแก้ว รองผู้อำนวยการฝ่ายการเดินรถองค์การและรักษาการผู้อำนวยการ ขสมก. กล่าวว่า จะทำหนังสือถึงกรมการขนส่งทางบก เรื่องการไม่ปรับขึ้นราคารถเมล์ต่อไป ส่วนรถเมล์เอ็นจีวีใหม่ 300 คันและอีก 189 คัน ที่กำลังจะส่งมอบนั้นอาจใช้เกณฑ์ราคาใหม่ แต่ต้องหารือกันภายในอีกครั้ง
ขณะเดียวกันที่ประชุมคณะกรรมการบริหาร (บอร์ด) ได้มีมติเห็นชอบโครงการติดตั้งอินเทอร์เน็ตไร้สาย หรือไวไฟบนรถโดยสารสาธารณะ ขสมก. ทั้งหมด 2,800 คัน เพื่อยกระดับงานบริการควบคู่การส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น คาดว่าจะติดตั้งเสร็จภายใน 6 เดือน จะสร้างรายได้ให้ ขสมก. 100 ล้านบาท หรือเฉลี่ยปีละ 20 ล้านบาท ตลอดอายุสัมปทาน 5 ปี ขณะนี้ได้บริษัทลงทุนแล้ว
ขณะที่ นายสุเมธ องกิตติกุล ผอ.วิจัยด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า จะเสนอผลการศึกษาโครงสร้างค่าโดยสารรถไฟและรถไฟฟ้าในปัจจุบันให้กรมการขนส่งทางบก ภายใน 1 เดือนและส่งต่อให้กระทรวงคมนาคมพิจารณา
ทั้งนี้ จากการเก็บข้อมูลด้านเศรษฐกิจ รายได้และกำลังการบริโภคคนกรุงเทพฯ พบว่าประชากรครึ่งหนึ่งหรือราว 4-5 ล้านคน ไม่สามารถรับภาระค่าโดยสารรถไฟฟ้าในปัจจุบันได้ และปัญหานี้จะยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นเมื่อมีการเปิดเดินรถไฟฟ้าสายใหม่ จึงขอให้รัฐบาลควบคุมโครงสร้างค่าโดยสารอย่างเป็นระบบ ทั้งเส้นทางเดิมและเส้นทางใหม่ เช่นเดียวกับการคุมค่ารถเมล์ที่ผ่านมา หรืออย่างน้อยต้องไม่ปล่อยให้ค่าโดยสารลอยตัวเช่นในปัจจุบัน
"ยกตัวอย่างผู้มีรายได้ขั้นต่ำราว 1-1.5 หมื่นบาท อาทิ ค่าเฉลี่ยค่าโดยสารรถไฟฟ้าตลอดสายอยู่ที่ 42 บาท หากเดินทางเข้าเมืองต้องเชื่อมต่อรถไฟฟ้าอีกสายจะเป็น 84 บาท/เที่ยว หรือ 168 บาท/วัน คิดเป็น 3,360 บาท/เดือน กรณีมีวันทำงาน 20 วัน/เดือน เฉพาะแค่ค่ารถไฟฟ้าคิดเป็น 33.6% ซึ่งถือว่าค่อนข้างสูงเกินไป" นายสุเมธ กล่าว
ขณะที่ค่าโดยสารรถไฟธรรมดาควรปรับขึ้นให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง โดยรถไฟชั้น 3 ราคาเริ่มต้นเพียง 2 บาท ซึ่งไม่ได้ปรับมากว่า 20 ปีแล้ว จึงควรปรับเพิ่มตามที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เสนอที่ 10 บาท สำหรับราคารถไฟชานเมืองสายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิต ควรมีราคาเฉลี่ยที่ 20-30 บาท/เที่ยว และควรเป็นรถไฟเส้นทางที่ถูกที่สุดเพราะช่วยผู้มีรายได้น้อย เช่นเดียวกับรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ที่มีราคา 45 บาทตลอดสายถือว่าถูกที่สุดในปัจจุบัน