MONEY

โดย กองบรรณาธิการ M2F

18 มกราคม 2562 : 08:35 น.

.

ปลายปีที่ผ่านมา องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ประกาศรับรองขึ้นบัญชี การแสดง “โขน” ของไทย ให้เป็นรายการตัวแทนมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติอย่างเป็นทางการ เช่นเดียวกับโขนกัมพูชา ที่ได้รับการขึ้นบัญชีเช่นเดียวกัน

การประกาศดังกล่าว ตอกย้ำเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่ใกล้ชิดกันของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวี ที่มีวัฒนธรรม ความโดดเด่นที่เป็นเสน่ห์ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก ทำให้องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท.มุ่งขยายผลสู่มิติการท่องเที่ยวยั่งยืน

นายชูวิทย์ มิตรชอบ รองผู้อำนวยการ อพท. กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลนำประเทศไทยเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ค.ศ. 2003 (หรือปี พ.ศ. 2546) โดยประเทศไทยได้เข้าร่วมอนุสัญญาในปี พ.ศ. 2559 เพื่อเป็นการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติทั้งในระดับประเทศและระดับสากล ซึ่งมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้เหล่านั้นส่วนใหญ่ล้วนกระจายอยู่ในชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นประเพณี วัฒนธรรม ภูมิปัญญาพื้นบ้าน นิทานพื้นบ้าน การละเล่นพื้นบ้าน ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นอัตลักษณ์ที่โดดเด่น ที่ อพท.สามารถแนะนำให้ชุมชนได้พัฒนาสู่การเป็นกิจกรรมทางการท่องเที่ยว หรือจุดขายทางการท่องเที่ยวได้ทั้งสิ้น

ทั้งนี้ ภารกิจหน้าที่ที่ อพท.ได้รับมอบหมายจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ซึ่งเป็นหน่วยงานกลางในการจัดทำแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ให้ อพท.เป็นหน่วยงานเจ้าภาพหลักในเรื่องการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรม โดยใช้องค์ความรู้และนวัตกรรม ผนวกกับจุดแข็งในด้านความหลากหลายในเชิงวิถีชีวิตและมรดกภูมิปัญญา เพื่อสร้างสรรค์คุณค่าและมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า รวมถึงการพัฒนากิจกรรมและบริการด้านการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ๆ บนฐานของทุนทางวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น ที่จะตอบสนองพฤติกรรม ความต้องการนักท่องเที่ยว และสร้างทางเลือกของประสบการณ์ใหม่ๆ ให้กับนักท่องเที่ยว

นอกจากนี้ อพท.ได้จัดกิจกรรมเชิงปฏิบัติการ “ภาคีเครือข่ายเพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรสูงการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ด้านมิติมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม หรือ Intangible Cultural Heritage (ICH)” ให้ความรู้แก่บุคลากรและภาคีเครือข่าย โดยได้บูรณาการร่วมกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับชาติ และนานาชาติ อาทิ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ UNESCO ในการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนในพื้นที่พิเศษของ อพท.และเขตพัฒนาการท่องเที่ยวทั้ง 9 เขต

กิจกรรมครั้งนี้ อพท.คาดหวังสร้างความตระหนัก และความรับรู้ ความเข้าใจ ให้แก่ผู้เข้าร่วมการอบรมในเรื่องอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ค.ศ. 2003 เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้บุคลากรเหล่านี้ ได้สามารถนําหลักการระดับสากลไปใช้ส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมในมิติเรื่องของการท่องเที่ยวได้ต่อไป

สำหรับ ของดีที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของชุมชนในพื้นที่พิเศษของ อพท. เช่น การทอผ้าพื้นเมือง สูตรอาหารท้องถิ่น ความรู้เรื่องการปั้นการหล่อพระพุทธรูป การละเล่นพื้นบ้าน เป็นต้น

ปัจจุบันหลายองค์กรเริ่มนำอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรม ไปใช้ประโยชน์ในมิติต่างๆ อพท. ในฐานะองค์กรที่ทำงานด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน จึงใช้โอกาสความร่วมมือครั้งนี้ นำอนุสัญญาดังกล่าวมาใช้ในมิติเรื่องของการท่องเที่ยวให้เกิดประโยชน์ต่อไป

ข่าวเด่น

ข่าวที่น่าสนใจ