.
กทม.และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันพัฒนาระบบขนส่งมวลชนสาธารณะมาอย่างต่อเนื่องตามนโยบายของรัฐบาล โดยขยายการให้บริการเดินรถไฟฟ้าทั้งบนดินและใต้ดินเพิ่มเติมหลายสถานี รวมไปถึงเปิดให้บริการเดินเรือในคลองสายต่างๆ เพื่อเชื่อมต่อโครงข่ายการเดินทาง ล้อ ราง เรือ ให้เป็นหนึ่งเดียว และเพิ่มทางเลือกการเดินทางให้เข้าถึงพี่น้องประชาชนอย่างสะดวกสบายมากขึ้นครับ
แต่ปัญหาหนึ่งที่พบ คือ ระบบขนส่งมวลชนสาธารณะของเรายังไม่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของคนกรุงเทพฯ เท่าที่ควร เนื่องจากยังไม่รองรับการเดินทางตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง คนจำนวนมากจึงเลือกใช้รถส่วนตัวเพื่อการเดินทางที่สะดวกกว่า หรืออาจจะใช้รถส่วนตัวแล้วต่อด้วยระบบสาธารณะต่างๆ ซึ่งทำให้การใช้รถส่วนตัวยังกลายทางเลือกที่จำเป็นและคนเลือกใช้มากกว่าระบบขนส่งสาธารณะครับ
วันนี้ กทม.จึงได้พัฒนา"ระบบ feeder" หรือระบบขนส่งระบบรอง เพื่อให้บริการเสริมในส่วนที่ระบบหลักยังไปไม่ถึง โดยจะร่วมกับภาคเอกชนทดลองเดินรถ Shuttle Bus ให้เป็นขนส่งระบบรอง (feeder) ในเส้นทางที่ยังไม่มีบริการขนส่งมวลชนอื่นๆ เพื่อรับผู้โดยสารจากต้นทางป้อนเข้าสู่ระบบขนส่งมวลชนสาธารณะหลัก โดยจะเริ่มทดลองเดินรถประมาณเดือนมีนาคม 2563 ใน 3 เส้นทางนำร่อง ได้แก่ 1) สถานีขนส่งสายใต้ใหม่ เขตตลิ่งชัน - สถานีรถไฟฟ้า BTS บางหว้า 2) ดินแดง - สถานีรถไฟฟ้า BTS สนามเป้า และ 3) ชุมชนเคหะร่มเกล้า – สถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิ้งก์ ลาดกระบัง ระหว่างช่วงเวลา 05.00 - 21.00 น. โดยไม่คิดค่าบริการ
ในการเดินรถ Shuttle Bus นี้ จะหลีกเลี่ยงการทับซ้อนเส้นทางเดินรถขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และรถสองแถว ที่ให้บริการในปัจจุบัน แต่หากจะมีการทับซ้อนก็จะเกิดขึ้นเฉพาะในเส้นทางถนนสายหลักที่วิ่งผ่านเท่านั้น โดยจะมีจุดจอดรับ-ส่งผู้โดยสารเฉพาะจากต้นทาง เช่น จากชุมชน หรือสถานที่ราชการต่างๆ และที่ปลายทาง ได้แก่ สถานีรถไฟฟ้า ซึ่งจะเป็นการให้บริการแก่กลุ่มผู้ใช้งานที่ต้องการเดินทางมายังสถานีรถไฟฟ้าโดยเฉพาะครับ
นอกจาก 3 เส้นทางนำร่องข้างต้นแล้ว กทม.ยังมีเส้นทางอื่นที่อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้อีก 7 เส้นทาง ได้แก่ 1) พระราม 6 – สถานีรถไฟฟ้า BTS อารีย์ 2) เอกมัย - ทองหล่อ 3) ท่าเรือกรุงเทพ เขตคลองเตย - สถานีรถไฟฟ้า BTS อ่อนนุช 4) ซอยเสนานิคม – สถานีรถไฟฟ้า BTS เสนานิคม 5) สยามสแควร์ - สนามหลวง 6) ถนนสามเสน (ดุสิต) - ถนนมิตรไมตรี (ดินแดง) และ 7) สายไหม – สถานีรถไฟฟ้า BTS สะพานใหม่ รวมทั้งศึกษาเส้นทางอื่น ๆ ที่มีความเหมาะสมสำหรับเปิดให้บริการเดินรถ Shuttle Bus เพิ่มเติมอีกด้วย
ในช่วงของการเปิดทดลองเดินรถ Shuttle Bus ก็จะมีการเก็บข้อมูลปริมาณผู้โดยสารทั้งจากต้นทางและปลายทาง มีการจัดทำแบบประเมินความพึงพอใจและข้อเสนอแนะของผู้ใช้บริการ เพื่อนำมาเป็นฐานข้อมูลในการดำเนินการโครงการรวมถึงการขยายเส้นทางการเดินรถให้ครอบคลุมต่อการใช้บริการของประชาชนในอนาคต โดยมีเป้าหมายสำคัญเพื่อให้พี่น้องประชาชน ตลอดจนนักท่องเที่ยว สามารถเดินทางได้อย่างสะดวกสบาย ปลอดภัย และรวดเร็ว โดยไม่ต้องใช้รถส่วนตัว เพื่อให้กรุงเทพฯ มีศักยภาพในการพัฒนาเมืองทุกมิติ และเกิดประโยชน์แก่ประชาชนอย่างสูงสุด