NEWS

โดย กองบรรณาธิการ M2F

08 มกราคม 2563 : 20:00 น.

.

มีคำเตือนจากการประปานครหลวง กรณีน้ำประปาในบางพื้นที่มีรสชาติกร่อย จากสภาวะภัยแล้งซึ่งทำให้น้ำในเขื่อนมีน้อย ไม่เพียงพอต่อการผลักดันน้ำเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยา ประกอบกับสถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูงรุนแรงสูงสุดในรอบ 50 ปี ทำให้มีน้ำเค็มผ่านเข้าระบบน้ำดิบในการผลิตน้ำประปา พร้อมแนะนำให้ไปรับน้ำประปาดื่มได้ ที่สำนักงานประปาสาขาใกล้บ้านได้ฟรี หรือจะซื้อน้ำบรรจุขวดดื่มเป็นการชั่วคราว เพื่อป้องกันอันตรายจากค่าความเค็มที่สูงเกินมาตรฐาน

กทม.ห่วงใยต่อปัญหาสุขภาพของพี่น้องประชาชน รวมถึงได้เตรียมพร้อมมาตรการในการป้องกันและเฝ้าระวังปัญหาภัยแล้งอย่างต่อเนื่อง ได้กำชับให้สำนักงานเขต สำนักอนามัย สำนักพัฒนาสังคม สำนักการศึกษา ให้ความรู้และคำแนะนำแก่ผู้ปกครอง นักเรียน และประชาชนทั่วไป ในการเฝ้าระวังปัญหาสุขภาพจากสภาวะน้ำประปามีรสชาติกร่อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคไต หัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิต ตลอดจนผู้ป่วยโรคทางสมอง ระยะนี้ควรงดบริโภคน้ำประปาครับ เนื่องจากอาจจะทำให้ได้รับปริมาณโซเดียมที่เกินกว่าปริมาณที่แนะนำ อาจส่งผลกับภาวะโรคที่เป็นอยู่

สำหรับผู้ที่มีสุขภาพปกติ ยังสามารถบริโภคน้ำประปาในช่วงเวลานี้ได้ โดยที่ยังไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เนื่องจากปริมาณโซเดียมในน้ำประปาถือว่าน้อยมาก เมื่อเทียบกับปริมาณโซเดียมในอาหารทั่วไปที่บริโภคประจำวัน ดังนั้นเมื่อได้รับปริมาณโซเดียมจากน้ำประปาที่เพิ่มขึ้น จึงควรลดการเติมเครื่องปรุงรสเค็มในอาหารให้น้อยลงเพื่อให้เกิดความสมดุล

ปัญหาภัยแล้ง ไม่เพียงส่งผลต่อสุขภาพของพี่น้องประชาชนครับ แต่ยังรวมถึงชีวิตประจำวัน อาชีพ และระบบนิเวศต่างๆ ด้วย โดยในขณะนี้พบว่ามีปัญหาน้ำเค็มเริ่มมีกระทบต่อพืชผลทางการเกษตรและการปศุสัตว์ในพื้นที่เขต 4 เขต ได้แก่ เขตบางขุนเทียน เขตทุ่งครุ เขตราษฎร์บูรณะ และเขตตลิ่งชัน อย่างไรก็ตาม กทม. ได้กำหนดแผนเฝ้าระวังและสั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสำนักงานเขตจัดทำแผนรองรับและให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนอย่างใกล้ชิด

โดยสำนักการระบายน้ำกทม.ได้ประสานกรมชลประทานพิจารณาในการผันน้ำเข้ามาในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ในช่วงจังหวะที่น้ำทะเลหนุนสูงและช่วงที่ค่าความเค็มไม่เกินค่ามาตรฐานที่กำหนด เพื่อระบายน้ำเข้าสู่ระบบคูคลองสายต่างๆ ในพื้นที่ ช่วยเจือจางค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยา รวมถึงให้มีการไหลเวียนของน้ำโดยนำน้ำดีเข้ามาถ่ายเทไล่น้ำเสีย รักษาระบบนิเวศของสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาและคูคลองต่อไป

นอกจากนี้ กทม.ได้มีการนำน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วจากโรงควบคุมคุณภาพน้ำขนาดใหญ่ 8 แห่ง ได้แก่ โรงควบคุมคุณภาพน้ำสี่พระยา โรงควบคุมคุณภาพน้ำรัตนโกสินทร์ โรงควบคุมคุณภาพน้ำช่องนนทรี โรงควบคุมคุณภาพน้ำหนองแขม โรงควบคุมคุณภาพน้ำทุ่งครุ โรงควบคุมคุณภาพน้ำจตุจักร โรงควบคุมคุณภาพน้ำดินแดง และศูนย์การศึกษาและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบางซื่อ ซึ่งมีอยู่ 815,000 ลบ.ม./วัน มาใช้ในภารกิจของกทม. รวมถึงแจกจ่ายให้กับประชาชนเพื่อนำไปใช้ในกิจกรรมที่ไม่สัมผัสร่างกาย เช่น รดน้ำต้นไม้ ล้างถนน ล้างตลาด ล้างเครื่องจักรภายในโรงงาน บรรเทาผลกระทบจากปัญหาขาดแคลนน้ำชั่วคราว ซึ่งน้ำที่ผ่านการบำบัดบางส่วนได้ระบายลงสู่คลองต่างๆ เพื่อช่วยเพิ่มปริมาณน้ำในคลองและให้น้ำมีคุณภาพดีขึ้น เช่น คลองเปรมประชากร คลองบางซื่อ คลองผดุงกรุงเกษม คลองบางลำพู คลองสามเสน คลองราษฎร์เจริญสุข คลองบางจาก อีกด้วย

ดูแลสุขภาพกันด้วยนะครับ ขอให้ตื่นตัวในการเฝ้าระวัง แต่อย่าตื่นตระหนก พร้อมปฏิบัติตามคำแนะนำในการป้องกันตนเองจากโรคต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในช่วงฤดูแล้ง เช่น โรคระบบทางเดินอาหาร และน้ำดื่ม ที่สำคัญอย่าลืมช่วยกันประหยัดน้ำ ไม่ควรเปิดน้ำทิ้งไว้ขณะแปรงฟัน ล้างภาชนะ รวมถึงตรวจสอบรอยรั่วไหลของก๊อกน้ำหรือท่อน้ำภายในบ้าน ด้วยนะครับ

กองบรรณาธิการ M2F

ข่าวเด่น

ข่าวที่น่าสนใจ