ผู้ว่าฯกทม.เปิดรพ.สนามแห่งที่ 5 ศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติ (บางมด) เขตทุ่งครุ รองรับผู้ป่วยโควิด นำร่องจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ป้องกันเชื้อลุกลาม
เมื่อวันที่ 3 พ.ค.พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ตรวจความพร้อม “โรงพยาบาลเอราวัณ 3” ซึ่งเป็นโรงพยาบาลสนามกทม. แห่งที่ 5 ใช้รองรับผู้ป่วยโควิด โดยมี นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร พญ.วันทนีย์ วัฒนะ รองปลัดกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารสำนักการแพทย์ สำนักอนามัย สำนักวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยว ผู้บริหารเขตทุ่งครุ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมตรวจเยี่ยม ณ ศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติ (บางมด) เขตทุ่งครุ
พล.ต.อ.อัศวิน เปิดเผยว่า โรงพยาบาลเอราวัณ 3 เป็นโรงพยาบาลสนามที่ใช้พื้นที่ของศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติบางมด เปิดให้บริการผู้ป่วยโควิดที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการไม่รุนแรง(โควิดเขียว) และสำหรับดูแลผู้ป่วยติดเชื้อที่มีอาการเล็กน้อย(โควิดเหลือง) เข้าดูแลรักษาแบบผู้ป่วยในตลอดเวลา 24 ชั่วโมง ใช้พื้นที่อาคารโรงยิมฯ จำนวน 4 อาคาร จัดแยกเป็นพื้นที่ของผู้ป่วยชาย-หญิง ได้อย่างชัดเจน โดยยิม 1 และยิม 2 จะเป็นของผู้ป่วยชาย 2 อาคาร ส่วนยิม 3 และยิม 4 จะเป็นของผู้ป่วยหญิง สามารถรองรับผู้ป่วยได้ 342 เตียง มีเครื่องเอ็กซเรย์ เครื่องทำออกซิเจน และอุปกรณ์อื่นๆ สำหรับดูแลผู้ป่วย โดยมี บุคลากรทางการแพทย์จากโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์เป็นผู้ดูแล โดยจะเปิดรับผู้ป่วยตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป คาดว่า โรงพยาบาลสนามของกรุงเทพมหานครทุกแห่ง ขณะนี้มีอยู่ประมาณ 2,000 เตียง มีจำนวนเตียงเพียงพอสำหรับรองรับผู้ป่วยใน กทม.
อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยโควิดเขียวติดเชื้อลุกลามหรือมีอาการรุนแรงขึ้น จนกลายเป็นโควิดเหลือง หรือแดง กทม. จะให้ยาฟาวิพิราเวียร์แก่ผู้ป่วยติดเชื้อโควิดเขียวรายใหม่ที่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลสนามทันทีตั้งแต่วันแรก ซึ่งกรุงเทพมหานครได้จัดซื้อมา 50,000 เม็ด และได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี อีก 50,000 เม็ด รวม 100,000 เม็ด โดยจะเริ่มแจกผู้ป่วยที่เข้ามา รพ.สนาม คนละ 50 เม็ด ใช้เวลารับประทานประมาณ 5 วัน และเชื่อว่าจะหายจากโรคไม่ลุกลาม บานปลาย และระยะต่อไป กทม.จะซื้อยาฟาวิพิราเวียร์ผ่านทางมูลนิธิจุฬาภรณ์ อีก 500,000 เม็ด โดยปกติยาฟาวิพิราเวียร์ทางการแพทย์จะเริ่มให้ผู้ป่วยเริ่มกินเมื่อการติดเชื้อแสดงอาการ(โควิดเหลือง) แต่ กทม. เห็นว่าควรให้ทานตั้งแต่เริ่มติดเชื้อเพื่อรักษาและป้องกันการลุกลามของโรค โดยกทม.จะนำร่องให้ยาก่อน
พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวว่า โรงพยาบาลสนามทุกแห่งมีแนวทางการจัดการความปลอดภัย การป้องกันการแพร่เชื้อมาตรฐานเดียวกับโรงพยาบาลหลัก โดยจะรับดูแลผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย หากมีอาการเปลี่ยนแปลงรุนแรงขึ้นจะส่งไปรักษาในโรงพยาบาลหลัก ทั้งนี้ได้กำหนดแนวทางการปฏิบัติของผู้ป่วยโควิด-19 อย่างเคร่งครัด ได้แก่ ต้องอยู่ภายในหอพักผู้ป่วยห้ามออกจากห้องโดยเด็ดขาด สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่อยู่ในโรงพยาบาลสนาม ห้ามบ้วนเสมหะหรือน้ำลายในถังขยะ เสื้อผ้าใส่ลงถังผ้าเปื้อน และปิดฝาให้เรียบร้อย ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์บ่อยๆ ไม่เดินพลุกพล่าน ไม่จับกลุ่มสนทนา และไม่เข้าไปในเขตปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ รวมทั้งไม่อนุญาตให้ญาติเข้าเยี่ยมทุกกรณี แต่สามารถนำของเยี่ยมฝากไว้ได้ตามเวลาและสถานที่ทางโรงพยาบาลกำหนด ห้ามถ่ายภาพหรือโพสต์ข้อความที่เกี่ยวข้องลงบนสื่อสังคมออนไลน์ในลักษณะที่ก่อให้เกิดความเสียหายขณะรักษาตัว ห้ามสูบบุหรี่ ห้ามเสพติดของมึนเมา และห้ามการพนัน
สำหรับ จำนวนผู้ป่วยครองเตียงในโรงพยาบาลสังกัด กทม. โรงพยาบาลสนาม กทม. และ Hospitel มีจำนวนทั้งสิ้น 1,458 ราย ดังนี้ โรงพยาบาลสังกัด กทม. ทั้ง 8 แห่ง มีผู้ป่วยครองเตียงแล้ว 215 เตียง โรงพยาบาลสนาม กทม. 5 แห่ง ปัจจุบันมีเตียงสำหรับรองรับผู้ป่วย จำนวน 2,100 เตียง มีผู้ป่วยครองเตียงแล้ว 1,053 เตียง ยังว่างอยู่ 1,047 เตียง