ซินดี้ สิรินยา ร่วมรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อสตรีรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อสตรีฯ ในแคมเปญ #เจ็บแต่ไม่ยอม ขณะที่ผลสำรวจพบสังคมไทยผลิตซ้ำ-หล่อหลอมความรุนแรง อำนาจชายเป็นใหญ่ ฝังรากผ่านสื่อ
วันที่ 15 พ.ย. มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซินดี้ สิรินยา บิชอฟ นางแบบและนักแสดงชื่อดัง รวมพลังผู้ถูกกระทำความรุนแรง ทำกิจกรรมรณรงค์ในแคมเปญ #เจ็บแต่ไม่ยอม เนื่องในวันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล พร้อมเสวนาถ่ายทอดประสบการณ์ผู้ที่เคยถูกกระทำ โดยภายในงานมีการนำผู้ที่ผ่านพ้นจากความรุนแรง และเครือข่ายกว่าร้อยชีวิต วาดหยดน้ำตาสีดำที่ใบหน้า ร่วมเดินรณรงค์และทำ flash mob รวมพลคนเจ็บแต่ไม่ยอม ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เขตพญาไท
น.ส.จรีย์ ศรีสวัสดิ์ หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมภาคีเครือข่าย มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า จากการเก็บผลสำรวจความคิดเห็นของกลุ่มผู้หญิง อายุตั้งแต่ 18 ปี ขึ้นไป จำนวน 1,655 ชุด พื้นที่ใน กทม. ตั้งแต่วันที่ 1-8 พ.ย. 2561 พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ อายุ 31-40 ปี ร้อยละ 36.2 เคยเห็นเพื่อน/คนใกล้ชิดประสบปัญหา ร้อยละ 38.4 เคยเห็นคนใกล้ชิดโดนทำร้ายและเคยเจอมากับตัวเองด้วย ร้อยละ 10.4 ตลอดจนเคยประสบปัญหาด้วยตัวเอง ร้อยละ 7.8
นอกจากนี้ ยังเห็นการตอกย้ำสะท้อนความรุนแรงทางเพศ ผ่านสื่อละคร เช่น “ฉากละครตบ-จูบ เป็นเรื่องปกติ ทำให้ละครน่าสนใจ” มีผู้เห็นด้วยถึงร้อยละ 44.7 “นางร้ายในละครถูกลงโทษด้วยความรุนแรงเป็นสิ่งที่สมควรแล้ว” ร้อยละ 39.0 “สื่อส่วนใหญ่มักนำเสนอภาพผู้หญิงเป็นวัตถุทางเพศ” ร้อยละ 32.1 และ“ฉากพระเอกข่มขืนนางเอกเป็นเรื่องปกติ ยอมรับได้” ร้อยละ 25.3
สำหรับประโยคหรือข้อความ ที่กลุ่มตัวอย่างคุ้นหู/เคยชินมากที่สุด ได้แก่ “สามี-ภรรยา เปรียบเหมือนลิ้นกับฟัน กระทบกระทั่งกันบ้างเป็นเรื่องธรรมดา” ร้อยละ 89.2 รองลงมา “ความในอย่านำออก ความนอกอย่านำเข้า เรื่องในครอบครัวไม่ควรนำไปบอกคนอื่น เพราะจะเป็นการประจานครอบครัวตัวเอง” ร้อยละ 77.0 “ผู้ชายเป็นหัวหน้าครอบครัว มีหน้าที่หาเลี้ยงครอบครัว” ร้อยละ 62.8 “ผู้ชายเข้มแข็ง แข็งแรงกว่า และมีภาวะความเป็นผู้นำ” ร้อยละ 61.6 “ครอบครัวที่พ่อแม่แยกทางกันหรือหย่าร้าง จะทำให้ลูกเป็นเด็กมีปัญหา” ร้อยละ 57.4
ด้าน ซินดี้ สิรินยา กล่าวว่า กิจกรรมรณรงค์ครั้งนี้อยากสะท้อนว่า เมื่อผู้หญิงต้องเผชิญกับสถานการณ์ความรุนแรง ต้องหยุดโทษตัวเอง สิ่งสำคัญคือต้องเริ่มจากสร้างพลังให้ตัวเอง แน่นอนว่าบางเรื่องอาจละเอียดอ่อนซับซ้อนเปราะบางในครอบครัว แต่เราต้องสร้างทางเลือกอื่นให้กับตัวเอง โดยเฉพาะการมีข้อมูลในมือ ต้องค้นหา เสาะแสวง เพื่อที่จะมีความรู้ สร้างทางเลือกเพราะคนที่ไม่รู้ว่ามีทางเลือกอื่นอยู่ในมือจะเสียเปรียบ มีองค์กรหน่วยงานจำนวนมากที่พร้อมจะเข้ามายืนเคียงข้างเรา อย่างมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล รวมไปถึงกลไกของรัฐ เช่น 1300