โควิด-19 สายพันธุ์แลมบ์ดาที่องค์การอนามัยโลกจัดให้เป็นสายพันธุ์ที่ต้องให้ความสนใจ
โควิด-19 สายพันธุ์แลมบ์ดา (Lambda) หรือชื่อทางวิทยาศาสตร์คือ C.37 พบครั้งแรกที่ประเทศเปรู ซึ่งขณะนี้พบการแพร่ระบาดของสายพันธุ์ดังกล่าวแล้วอย่างน้อย 29 ประเทศทั่วโลก โดยองค์การอามัยโลก (WHO) จัดให้เป็นสายพันธุ์ที่ต้องให้ความสนใจ (Variant of Interest : VOI) หลังพบการแพร่ระบาดเพิ่มขึ้น
ทางการเปรูระบุว่านับตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมาพบสายพันธุ์แลมบ์ดาถึงร้อยะ 81 ของผู้ป่วยโควิด-19 ในประเทศ ซึ่งอาจกลายเป็นสายพันธุ์หลักในเปรู อย่างไรก็ตามตัวเลขผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตในประเทศยังไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
นอกจากนี้ยังพบการแพร่ระบาดของสายพันธุ์แลมบ์ดาในประเทศอื่นๆ ในอัตราที่เพิ่มขึ้น อย่างเช่นประเทศชิลี อาร์เจนตินา และเอกวาดอร์ รวมถึงประเทศอื่นในแถบละตินอเมริกา
โดยสายพันธุ์แลมบ์ดาพบการกลายพันธุ์ที่โปรตีนหนาม รวมถึงตำแหน่ง G75V, T76I, del247/253, L452Q, F490S, D614G และ T859N
ขณะที่องค์การอนามัยโลกระบุว่าไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์แลมบ์ดาอาจเพิ่มอัตราการแพร่ระบาดหรือมีความสามารถในการต้านภูมิคุ้มกันได้
อย่างไรก็ตามจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อทำความเข้าใจสายพันธุ์ดังกล่าวมากกว่านี้ เนื่องจากข้อมูลที่มีอยู่ในขณะนี้ยังไม่เพียงพอที่จะสามารถสรุปได้
ทั้งนี้ การตั้งชื่อสายพันธุ์แลมป์ดาเป็นการตั้งชื่อโดยใช้ตัวอักษรกรีกแทนการใช้ชื่อประเทศเปรูเพื่อไม่ให้เกิดการตีตราประเทศที่พบไวรัสเป็นครั้งแรก
เช่นเดียวกับไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์อื่นๆ อย่างเช่นสายพันธุ์อัลฟาที่พบครั้งแรกในประเทศอังกฤษ, สายพันธุ์เดลตาที่พบครั้งแรกในประเทศอินเดีย, สายพันธุ์แกมมาที่พบครั้งแรกในประเทศบราซิล และสายพันธุ์เบตาที่พบครั้งแรกในประเทศแอฟริกาใต้ ซึ่งทั้ง 4 สายพันธุ์นี้ WHO จัดให้เป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล (Variants of Concern : VOC)
โดยขณะนี้ WHO กำลังจับตาโควิด-19 กลายพันธุ์กว่า 50 สายพันธุ์แต่ไม่ใช่ทุกสายพันธุ์ที่จะเป็นอันตรายถึงขั้นต้องจัดให้เป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวลอย่าง 4 สายพันธุ์ข้างต้น
นอกจากนี้ WHO ยังได้จับตาสายพันธุ์กลายพันธุ์ใหม่ "เดลตา พลัส" (B.1.617.2) ซึ่งวิวัฒนาการมาจากสายพันธุ์เดลตาที่พบครั้งแรกในประเทศอินเดีย แม้จะยังไม่จัดให้อยู่ในลิสต์สายพันธุ์ที่น่ากังวลแต่อาจสามารถหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันและต้านทานต่อวัคซีนมากขึ้น
โดยนอกจากอินเดียแล้วยังพบเดลตา พลัส ในประเทศอื่นเช่นสหรัฐ, แคนาดา, รัสเซีย, เยอรมนี, สวิตเซอร์แลนด์, เนปาล, โปแลนด์, โปรตุเกส และญี่ปุ่น
ขณะที่สายพันธุ์เดลตาเองก็มีการแพร่ระบาดไปแล้วกว่า 80 ประเทศทั่วโลกและยังคงกลายพันธุ์ต่อไป โดยผู้เชี่ยวชาญระบุว่าไวรัสสายพันธุ์นี้สามารถแพร่ระบาดได้รวดเร็วกว่าสายพันธุ์อื่นๆ รวมถึงคาดว่าอาจส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงกว่าสายพันธุ์อื่นด้วยแต่ยังคงต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อยืนยันข้อมูลดังกล่าว
Photo by Juan Carlos CISNEROS / AFP